หลังปลดล็อกกัญชาเสรี ในสื่อสังคมออนไลน์เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมกัญชานำมาขายให้ผู้บริโภค บางส่วนมีการแจ้งลูกค้าอย่างชัดเจน แต่บางส่วนกลับไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ ทั้งที่บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการกินกัญชาแต่อย่างใด
ครูคนหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ยอมรับว่า รู้สึกกังวลหลังมีการปลดล็อกกัญชาเสรี เนื่องจากบางร้านอาจจะใส่กัญชาผสมในอาหารแต่ไม่ได้แจ้งลูกค้า ก่อนหน้านี้เคยกินก๋วยเตี๋ยวแล้วมีอาการคอแห้ง และเวียนศีรษะ ทำให้รู้สึกกังวลมาก ขณะที่ญาติก็เคยแพ้จนเข้าโรงพยาบาล หลังกินอาหารที่ใส่ส่วนผสมของกัญชามาก่อน
เช่นเดียวกับครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา ที่ต้องสอบถามร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทุกครั้งก่อนจะซื้อบริโภค เนื่องจากต้องให้นมลูกที่เพิ่งคลอด และทราบข้อมูลว่าสารจากกัญชาส่งผ่านนมแม่ได้ จึงรู้สึกกังวลมาก และอยากให้ร้านค้าแจ้งหรือเขียนให้ชัดเจนว่ามีกัญชาผสมอยู่ในเมนูหรือไม่
ไม่ต่างจาก พนักงานบริษัทเอกชนใน กทม.อีกคน มองว่า ส่วนตัวไม่คิดจะลองกินหรือใช้กัญชา จึงทำให้กังวลว่าจะไปเจอร้านอาหารใส่กัญชาแล้วร้านไม่แจ้งลูกค้า และกังวลเรื่องการใช้กัญชาแบบทั่วไปที่ไม่คำนึงถึงผลเสียด้วย
ไม่เห็นด้วยกับการให้กัญชาเสรี แบบไม่มีนโยบายหรือกฎหมายตัวอื่นมารองรับ หัวหน้ามีโรคประจำตัว ยิ่งกลัวว่ากินเข้าไปแล้วจะเป็นอะไรไหม คิดว่าร้านก็ควรแจ้งลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ
ขณะที่พนักงานบริษัทเอกชนอีกคน ยืนยันว่า ไม่กังวลเกี่ยวกับการผสมกัญชาในอาหารและเครื่องดื่ม เพราะมองว่า กัญชามีราคาแพง หากร้านไหนจะนำมาผสมก็อาจจะใส่ในปริมาณน้อยมาก หรือหากใส่จำนวนมาก คิดว่าร้านอาหารหรือเครื่องดื่มน่าจะแจ้งให้ลูกค้าทราบเพื่อเพิ่มราคาสินค้า
แนะวิธีสังเกตอาการ-ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ด้านเภสัชกรหญิงผกากรอง ขวัญข้าว วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสังเกตว่าอาหารหรือเครื่องดื่มมีการผสมกัญชาหรือไม่นั้น อาจจะไม่สามารถรู้สึกได้ หากทางร้านค้าใส่ในปริมาณที่น้อย แต่อาจจะมีอาการคอแห้ง ปากแห้ง แต่หากร้านใส่กัญชาในปริมาณที่มาก หรือใส่ดอกก็ส่งผลต่อการรับรู้ของระบบร่างกายได้
เหมือนเรานั่งอยู่บนเก้าอี้ แต่เหมือนลอยอยู่ในอากาศ หรือเดินอยู่แล้วรู้สึกว่าเท้าไม่แตะพื้น บางคนอาจมีอาการปวดศีระษะ เวียนศีรษะ ไปจนถึงคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น
สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อย หลังรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ผสมกัญชา แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ แต่หากมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่นเล็กน้อย แนะนำให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง แต่หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเวียนศีรษะรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
6 กลุ่มผู้บริโภคระวังอาหาร-เครื่องดื่มผสมกัญชา
ทั้งนี้ เภสัชกรหญิงผกากรอง ยังเตือนถึงผู้บริโภคที่ควรระวังการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มผสมกัญชา 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาสมองอยู่ เมื่อรับประทานไปแล้วสาร THC อาจจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว และการคิดวิเคราะห์ได้
2.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ชัดว่าสาร THC จากกัญชา ส่งต่อไปยังเด็กผ่านรกและน้ำนมได้ 3.กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช 4.ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ควบคุมอาการไม่ได้ เช่น เจ็บหัวใจบ่อย ๆ ก็ควรระวังในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มผสมกัญชาเช่นกัน 5.กลุ่มคนแพ้กัญชง เพราะมีโอกาสแพ้กัญชาด้วย และ 6.กลุ่มผู้ใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งกรมอนามัยได้ออกข้อกำหนดให้กับร้านค้าแล้ว นอกจากผู้บริโภคจะระมัดระวัง ร้านค้าก็ควรปฏิบัติตามมาตรการด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ชัชชาติ" เผย กทม.พบเสพกัญชาเกินขนาด เสียชีวิต 1 ป่วย 3 คน
"รฎาวัญ" ห่วงกัญชาทำลายสมองเด็ก-เยาวชน
เช็กเงื่อนไขคุม "ใบกัญชา" ปรุงอาหาร?