เดินเกมรับมือการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ไปดึงพรรคเล็กและกลุ่ม 16 ภายใต้การนำของนายพิเชษฐ สถิรชวาล มาร่วมจุดกระแสหวังคว่ำรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็นอีสท์วอเตอร์แพ้ประมูลท่องส่งน้ำในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี อย่างมีเงื่อนงำ ไม่โปร่งใส
ด้านหนึ่งได้เห็นการตอบโต้จากหนึ่งในองครักพิทักษ์ “บิ๊กตู่” อย่างนายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล ยิงคำถามนายพิเชษฐ์ เล่นบทสายลับ 3 หน้า หวังปกป้องใคร
ด้านหนึ่งได้เห็นนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน หอบกระเช้าดอกไม้ “บิ๊กป้อม” ไปร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิดแกนนำพรรคเล็ก พร้อมให้เครดิตและกล่าวยกย่องพรรคเล็กว่ายังหนุน “บิ๊กตู่”
ด้านหนึ่ง ได้เห็นพรรคการเมืองใหญ่ร่วมรัฐบาล อย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ออกโรงยืนยันสนับสนุนรัฐบาลต่อไป ไม่มีแยกตัว
อีกด้านหนึ่ง ได้เห็นการกลับลำและคำพูดของ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย หนึ่งในน้องรัก “บิ๊กป้อม” ยืนยันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป
แม้ว่าเมื่อไม่กี่วันก่อน จะให้สัมภาษณ์ว่า ยังมองไม่เห็นใคร นอกจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บนตำแหน่งนายกฯ สำรอง
แต่อีกยุทธศาสตร์หนึ่ง ที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” เตรียมจะนำกลับมาใช้ใหม่ ในช่วงเวลาที่ไม่แน่ใจว่า คะแนนนิยมปัจจุบันจากประชาชนจะเป็นอย่างไร นั่นคือเวทีถามมา-ตอบไปที่สยามพารากอน 19-20 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยเชิญทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนให้เข้ามาร่วม รวมถึงการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลด้วย
ถือเป็นการจัดงานลักษณะย้อนกลับไปหาประชาชนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากยุติการสื่อสารกับประชาชน ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ทั้งรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” และรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 57-62 รวม 5 ปี แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายครั้งก็ตามที
แต่ก็ไม่ปัง ไม่โดนใจประชาชน มิหนำซ้ำ มีเสียงบ่นอยากดูละครวันศุกร์ แต่ก็อดดูเพราะเจอไฟลท์บังคับรายการของนายกฯ
จากนั้นมา การสื่อสารประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ก็ผ่านการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อของนายกฯและรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ เสียมากกว่า
แม้จะเคยเชื้อเชิญให้คนใน ครม.ช่วยกันแถลงหรือให้สัมภาษณ์สื่อ รวมถึงให้รองนายกฯตั้งโฆษกช่วยงานด้วย แต่ส่วนใหญ่เกรงจะไม่โดนใจนายกฯ จึงไม่เวิร์ค
ช่วงหลังแม้จะเปลี่ยนตัวโฆษกรัฐบาล แต่แทนที่จะเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องผลงานของรัฐ กลับมักทำหน้าที่ตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม และเน้นนัยเชิงทางการเมืองเสียมากกว่า จนกลายเป็นเรื่อง “เรียกแขก” ให้นายกฯ และรัฐบาลแทน
กระทั่งสถานการณ์เป็นไปอย่างในปัจจุบัน จึงต้องมีการรื้อฟื้นอย่างเร่งด่วน และต้องมอง “ข้ามช็อต” หวังผลไปถึงอนาคตข้างหน้า เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ แสดงท่าทีชัดเจนก่อนหน้านี้มาแล้ว ว่าต้องการไปต่อ
ขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมือง ทั้งพรรคเดิมและพรรคเกิดใหม่ ต่างเปิดตัวและโหมโปรโมทไปไกลสุดกู่ ชิงพื้นที่สื่อหลักและสื่อออนไลน์ชัดเจน ตรงข้ามกับรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ยังสาละวนวุ่นวายอยู่กับการแก้ปัญหาภายในพรรค
ต่อด้วยปมร้อน ความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป.ไม่ราบรื่นดังเดิม ขณะเดียวกัน ยังต้องสะสางเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ลงล็อคในหลายเรื่อง อาทิ รถฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกลุ่มพรรคเล็กคอยเคลื่อนไหวให้รำคาญใจไม่จบสิ้น กระทั่งถูกกูรูการเมืองระบุว่า เป็นเรื่องการปั่นราคาหวังต่อรอง นอกเหนือจากปั่นกระแสให้พล.อ.ประยุทธ์ และพล.ประวิตร ต้องปวดหัวไม่รู้จบ
จึงต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ แต่จะจุดติดหรือได้ผลแค่ไหน ประชาชนทั่วไป จะเป็นผู้ให้คำตอบ