ข้อมูลเบื้องต้นของแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงคือหนึ่งในแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก จากแผนที่ จุดเริ่มต้นของแม่น้ำโขงมาจากที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ ความยาว 4,880 กิโลเมตร
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) มีการคาดการณ์ว่าผู้คนราว 65-66 ล้านคนพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิตและทำมาหาเลี้ยงชีพ
ปัจจุบัน การไหลของแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลให้ปลาท้องถิ่นเริ่มสูญพันธุ์ ชาวประมงจึงไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม น้ำสำหรับทำการเกษตรไม่ไหลตามธรรมชาติ จึงเริ่มส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และนำไปสู่การย้ายถิ่นฐาน
ปัจจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือเขื่อนจากจีน เขื่อนมานวานคือเขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกที่จีนสร้างเสร็จเป็นแห่งแรกในปี 2539 จากนั้นจีนสร้างเขื่อนเพิ่มบนแม่น้ำโขงรวมเป็น 11 เขื่อน
นักวิชาการ ประชาชนในพื้นที่และภาคประชาสังคมให้ข้อมูลกับ Thai PBS ว่า เขื่อนจีนทั้ง 11 เขื่อนมีส่วนสำคัญที่ทำให้น้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างไม่ไหลตามฤดูกาล
ความร่วมมือนานาชาติบนลุ่มน้ำโขง
ก่อนหน้านี้ หมู่เกาะสแปรตลีย์และหมู่เกาะพาราเซลกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯและประเทศในอาเซียนที่มีชายแดนติดกับหมู่เกาะดังกล่าว อาเซียนทุ่มเทเวลากับการจัดการปัญหาในทะเลจีนใต้เป็นหลัก
แม่น้ำโขง หนึ่งในแม่น้ำสายหลักที่มีบทบาทเชื่อมประเทศในอาเซียนกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งใหม่ของจีน-สหรัฐฯ หนึ่งในเกมที่สหรัฐฯ ดำเนินการคือการสร้างความร่วมมือหุ้นส่วนแม่โขง-สหรัฐ (Mekong-US Partnership) โดยมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนาม
เพื่อสนับสนุนให้ประเทศในลุ่มน้ำโขงมีความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค นับว่าเป็นการต่อยอดมาจากนโยบายอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้
จากนั้น ในช่วงปลายปี 2021 แอนโทนี บลิงเคนเดินทางเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย พร้อมกับแสดงท่าทีกังวลถึงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอาเซียน
“การอ้างกรรมสิทธิ์บนพื้นที่ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในแม่น้ำโขงสู่หมู่เกาะแปซิฟิกเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวของจีน การปฏิเสธการส่งออกหรือเจรจาทางการค้ากับประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตร การมีส่วนร่วมกับการทำประมงที่ไม่มีการรายงานและการควบคุมอย่างผิดกฎหมาย ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ สหรัฐฯเองก็เช่นกัน”
ขณะเดียวกัน อาเซียนเป็นเสมือนประตูบ้านของจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์ แม่น้ำโขงจึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
นับตั้งแต่ปี 1992 จีนมีบทบาทสำคัญในแม่น้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region ;GMS) ที่มี 6 ประเทศจีน กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก
หลังจากนั้น ระหว่างการประชุมร่วมระหว่างจีนและอาเซียนในปี 2014 หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเสนอให้มีการจัดตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation ;LMC) โดยมี 6 ประเทศจีน กัมพูชา พม่า ลาว ไทย เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การดูและสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน
นอกจากนี้ 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างยังมีกรอบความร่วมมือกันเองทั้งภายในอาเซียน เช่น คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง ที่มีกัมพูชา ลาว ไทย เวียดนามเป็นสมาชิก, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy ;ACMECS)
รวมไปถึงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่น ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation ;MJ), ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (Mekong-Ganga Cooperation ;MGC) หรือ ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation หรือ Mekong ;ROK) เป็นต้น
ข้อมูลสู่ความขัดแย้ง
ข้อมูลระดับน้ำในแม่น้ำโขง คือตัวจุดชนวนความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดของจีนและสหรัฐฯ สหรัฐฯ ระบุว่า จีนไม่แบ่งปันข้อมูลการปล่อยน้ำในแม่น้ำโขง ส่งผลให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โครงการ Mekong Dam Monitoring ของสหรัฐฯ เขียนบทความอ้างข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน หนึ่งในสถานีวัดระดับน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน ที่อยู่ใกล้กับเขื่อนเสี่ยวหวานและเขื่อนนั่วจาตู้ของจีน อธิบายว่า
การไหลของแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดสถานการณ์น้ำแล้งในปี 2019 เขื่อนของจีนกลับยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ด้วยการทำให้น้ำแล้งในฤดูน้ำหลาก
สำนักข่าว Global Times ของจีนออกบทความตอบโต้ว่า นักวิชาการด้านอุทกวิทยา จากมหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน พบความผิดพลาดในการรายงานข้อมูลของ Mekong Dam Monitoring ที่บอกว่าในปี 2019 มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ แต่จีนกักเก็บน้ำจนน้ำแล้ง
นักวิชาการตั้งคำถามกลับไปยังสหรัฐฯ ว่า หากคิดตามตรรกะแล้ว ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นย่อมส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมากขึ้น แต่ทำไมปริมาณน้ำในเขื่อนเสี่ยวหวานและเขื่อนนั่วจาตู้ของจีนกลับลดลง และในปีเดียวกันจีนก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน
จีนบอกว่า สหรัฐฯ พยายามสร้างวาทกรรมด้านอุทกวิทยาว่า จีนทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้ง แต่ในความเป็นจริง จีนพยายามปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อช่วยให้น้ำในแม่น้ำโขงไหลตามปกติ
อีกหนึ่งประเด็นที่จีนจับตาคือสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เชียงใหม่ได้เชิญบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงและภาคประชาชนไทยไปหารือถี่ขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ทุน NGO นักวิชาการและสื่อมวลชน
อนาคตของแม่น้ำโขง
คณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ระบุว่า อีก 20 ปีข้างหน้า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าทั้งในแม่น้ำสายประธาน และแม่น้ำสาขา จะเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง ต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของภูมิภาค
เขื่อนในแม่น้ำโขง ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้แบกรับต้นทุนทั้งหมดคือประชาชนผู้อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงราว 65 ล้านคน แต่กำไรส่วนใหญ่จากการดำเนินการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะตกเป็นของนายทุน บริษัท และธนาคารต่างชาติ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียอาชีพทำการเกษตรและการประมง ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งยังเป็นการปิดกั้นโอกาสที่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างจะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับต่ำหรือรายได้ปานกลางด้วย
คณะกรรมธิการแม่น้ำโขงเสนอให้ประเทศในสมาชิกลุ่มน้ำโขงใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เป็นพลังงานทางเลือกทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากเขื่อน
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯเป็นผู้ชนะ เดิมพันที่สำคัญที่สุดในครั้งนี้คือชีวิตและปากท้องของผู้คนราว 65 ล้านคน ที่กำลังส่งเสียงบอกว่าแม่น้ำโขงคือธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลกและเป็นแหล่งรายได้เลี้ยงชีพของพวกเขา
Source :
https://www.scmp.com/week-asia/opinion/article/3093546/why-asean-should-treat-mekong-south-china-sea
http://www.lmcchina.org/eng/2017-12/13/content_41449851.html
https://readthecloud.co/mekong-subregion/
https://www.globaltimes.cn/page/202203/1257016.shtml
https://www.internationalaffairs.org.au/australianoutlook/the-inclusive-institutional-balancing-of-the-lancang-mekong-cooperation/