วันนี้ (4 พ.ค.65) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานยอดติดเชื้อโควิด-19 รวม 9,288 คน มีผู้ป่วยกำลังรักษา 108,654 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,638 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 21 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 20.4 มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 2,067,389 คน และเสียชีวิต 82 คน
ยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนต่ำกว่า 10,000 คน ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยคงที่ 9,000 กว่าคนต่อวัน
2 พ.ค. 65 ติดเชื้อ 9,331 คน
3 พ.ค. 65 ติดเชื้อ 9,721 คน
4 พ.ค. 65 ติดเชื้อ 9,288 คน
หวั่นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ระบาดหลังเปิดประเทศ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงสถานการณ์ระบาดของไทย โดยระบุว่า จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 65) จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก แม้ว่าจำนวนเสียชีวิตที่รายงานจะลดลงมาก ตั้งแต่ 1 พ.ค. 65 เพราะหน่วยงานไทยปรับการรายงานเหลือเฉพาะคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (Death from COVID-19) ไม่รวมคนที่เสียชีวิตจากโรคร่วม และพบว่าติดเชื้อ (Death with COVID-19) ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้น คิดเป็น 30.92% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทย เราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 47 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 18 วัน
ตารางเปรียบเทียบ BA.4, BA.5 ในแอฟริกาใต้ และ BA.2.12.1 ในอเมริกา Topol E ได้ช่วยสรุปเป็นตารางเปรียบเทียบสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ได้รับการจับตามองว่าจะนำไปสู่การระบาดซ้ำในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ข้อมูลปัจจุบันชัดเจนว่า ทั้ง 3 สายพันธุ์แพร่ไวขึ้นกว่า BA.2 ที่ครองการระบาดในปัจจุบัน และไวกว่า BA.1 ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของ Omicron นอกจากนี้ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้นด้วย
ปัจจุบัน BA.2.12.1 ระบาดไวขึ้นมากในอเมริกา โดยครองสัดส่วนราว 38% และคาดว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการระบาดในปัจจุบัน ทวีปอเมริกาและทวีปแอฟริกานั้น กลับมาอยู่ในขาขึ้นชัดเจนอีกครั้ง และจากระลอกเก่า ๆ ในอดีต หากคุมไม่ได้ การกระจายไปทั่วโลกก็มักจะเห็นผลในช่วงอีกราว 6-10 สัปดาห์ถัดมา แต่อาจเร็วกว่าเดิมได้ เพราะปัจจุบันการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ช่วงเวลาที่ไทยเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศเสรีมากขึ้นนั้น ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะมีสายพันธุ์เหล่านี้เข้ามา และจะนำไปสู่การระบาดซ้ำ จึงต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน