ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แรงงานภาคเหนือโอดโควิด-19 กระทบชีวิต-การงาน-ครอบครัว

สังคม
2 พ.ค. 65
15:13
437
Logo Thai PBS
แรงงานภาคเหนือโอดโควิด-19 กระทบชีวิต-การงาน-ครอบครัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แรงงานภาคเหนือโอดโควิด-19 กระทบชีวิตสาหัส ทั้งการงาน ครอบครัว หลังร้านค้า-กิจการ ทยอยปิด ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้นแทบทุกอย่าง

วันที่ 1 พ.ค.2565 ในงานวันแรงงาน จ.เชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล ที่ข่วงประตูท่าแพ มีวงเสวนา “ค่าจ้างต่ำ-ค่าครองชีพสูงในความจำยอมของคนทำงาน และการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติแสนแพง” โดยมีตัวแทนคนทำงานจากภาคผลิตต่าง ๆ ได้แก่ ไรเดอร์ แรงงานภาคการเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานพนักงานบริการ แรงงานแม่บ้าน และแรงงานภาคประชาสังคม

ตัวแทนแรงงานไรเดอร์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายคนอาจคิดว่าไรเดอร์เงินดี แต่งานเราขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์กับบริษัท เมื่อโควิดอยู่นาน เศรษฐกิจก็ถดถอย ร้านค้าทยอยปิดตัวเรื่อย ๆ ส่งผลให้งานมีน้อยลง ไรเดอร์บางคนใช้เวลา 2 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ 1 งาน เป็นต้น

“ผมไม่ปฏิเสธว่า เป็นงานอิสระ จะเข้างานเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกวันหยุดเองได้ แต่เมื่อเลือกทำงานนี้แล้ว ทุกคนจะค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะตามมา เช่น ผมเป็นนักศึกษาจบใหม่ พอมาทำจริง ๆ มันต้องใช้ชั่วโมงการทำงาน เหมือนคนทำงานทั่วไป ถ้าอยากจะได้ค่าตอบแทนเท่ากับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ไรเดอร์อาจต้องรับทั้งหมด 10 งาน หรือบางเจ้าให้ค่ารอบ 28 บาท แสดงว่าเราก็ต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ผู้แทนไรเดอร์กล่าว หลังเผชิญสถานการณ์การลดค่ารอบ ทำให้ไรเดอร์ออกมาประท้วงหลายครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ค่ารอบกลับคืนมา

ส่วนผู้แทนแรงงานภาคเกษตร กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ปัญหาแรกที่คนงานในภาคเกษตรได้รับผลกระทบ คือการขาดรายได้ หากเพื่อนแรงงานในกลุ่ม หรือพักอาศัยในห้องแถว ในชุมชน หรือแคมป์คนงานเดียวกัน ติดโควิดเพียงคนเดียว เจ้าหน้าที่รัฐหรือ อสม. จะห้ามไม่ให้แรงงานทั้งหมดไปเก็บผลผลิต หรือทำงานตามปกติ ทำให้ขาดรายได้แบบยกหมู่

เมื่อขาดรายได้ รัฐและนายจ้างไม่ได้ดูแลเลย ถ้าหากหยุดงานคือไม่มีเงิน เหมือนกับตกงานไปเลย พี่น้องแรงงานในชุมชนต้องพยายามช่วยเหลือกัน โดยระดมสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อบรรเทาช่วยเหลือซึ่งกันและกันไป

ผู้แทนพนักงานสถานบริการ กล่าวว่า เราถูกสั่งปิดกิจการก่อนคนอื่น และยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเราอยู่กันอย่างไร ก็ทำเท่าที่ได้ บางคนต้องไปรับจ้างก่อสร้าง ขับรถส่งของ ขายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะทุกคนมีภาระต้องดูแล มีลูก พ่อแม่ ต้องดิ้นรนกันไป

แม้จะรวมตัวกันไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้มีการเยียวยา แต่เราก็ไม่เคยได้ เขาบอกว่าเราทำงานในสถานบริการ เป็นพนักงานบริการ เขาไม่มองเราเป็นอาชีพ ไม่ได้มองเราเป็นแรงงาน ทั้ง ๆ ที่เราเป็นแรงงาน เราก็ทำงานเหมือนกัน

แรงงานภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นแรงงานชาติพันธุ์ กล่าวว่า ตนได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละประมาณ 300 บาท แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่าซื้อของ ค่าใช้จ่าย สูงขึ้น ต้องส่งลูกเรียน ค่าน้ำ ไฟ เมื่อโควิดระบาด แรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน บางครั้งต้องทำวันเว้นวัน และยังมีเรื่องค่าทำบัตรเข้ามาอีก ต้องยากลำบากมาก

ขณะที่ ตัวแทนแรงงานภาคประชาสังคม กล่าวว่า เรามาจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เราจึงต้องรวมตัวกัน มีความคิด อุดมการณ์เพื่อแก้ไขปัญหา สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมามีมา 8 ปีแล้ว จนกระทั่งโควิดเข้ามา สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง สวัสดิการไม่มี ค่าแรงของแรงงานไม่เพียงพอ

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น คนละครึ่ง แต่ในความเป็นจริงนโยบายคนละครึ่ง ทำให้ร้านค้าและนายทุนขึ้นราคาสินค้า ทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้นไปอีก เราจึงออกมาเรียกร้องว่า ควรเพิ่มค่าแรงให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ จึงเกิดภาคประชาสังคมขึ้น เพื่อไปต่อรอง พูด เรียกร้อง ช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน

ภาคประชาสังคมแต่ละภาคส่วน ก็มาจากคนที่เดือดร้อน แต่กลับมีกฎหมายคัดค้านการรวมกลุ่มของประชาชน ตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เนื้อหาใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำลังห้ามพวกเรารวมกลุ่มกัน ฉะนั้นถ้าเราเดือดร้อน อยากไปบอกความเดือดร้อนของเรามันทำไม่ได้อีกแล้ว เราจึงลุกขึ้นมาต่อต้าน

ทั้งนี้ ยังมีการเปิดตัวฉายสารคดีที่พูดถึงเรื่อง ต่อบัตร ภาระ ภาษี แรงงานข้ามชาติ โดย เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผูกติดอยู่กับการจ่ายค่า “ต่อบัตร” ของแรงงานข้ามชาติ หลายคน “ต้องลุ้นว่าปีนี้ค่าต่อบัตรจะเท่าไหร่ ทุกปีไม่เหมือนกัน”

รับชมคลิปเต็มได้ที่ https://fb.watch/cK9vRC922T/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง