วันนี้ (28 เม.ย.2565) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ (มก.) โพสต์ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึงสถานการณ์โลมาอิรวดี โลมาน้ำจืดที่หายากของไทยว่า หลังจากการสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อนพบว่ามีโลมาอิรวดีมากว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยพบเหลือเพียงแค่ 14 ตัวเท่านั้น และเป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่เหลือรอดชีวิตแล้วในทะเลสาบสงขลา
โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนิเซีย 90 ตัว เมียนมา 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว ไทย 14 ตัว
ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า เมื่อ 6,000 ปีก่อน โลมาอิรวดี สัตว์เฉพาะเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามชายฝั่งไปทั่ว มีโลมาอิรวดีฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง สงขลา ระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนทะเลกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบๆ ที่ยังเชื่อมต่ออยู่กับทะเลข้างนอก
แต่โลมาอิรวดียังมีความสุขอยู่ในทะเลสาบ ที่นี่ไม่มีผู้ล่าลูกๆ ยังมีปลากินเยอะแยะเลย ทะเลสาบสงขลาในสมัยก่อนที่สมบูรณ์สุดขีด โลมาอิรวดี ออกลูกหลานจนเป็นร้อยๆ ตัว แล้วมนุษย์ก็เข้ามา สมัยก่อนความต้องการไม่มาก
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
โลมาอิรวดี ยังมีความสุข พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมงอยู่ด้วยกันได้ ทว่าคนมีมากขึ้นจับปลามากขึ้น ยังมีการปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึก โลมากับปลาบึกขนาดใกล้เคียงกัน โลมาอิรวดี ไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็นหนีไม่รอด โลมาหายใจด้วยปอด โลมาติดอวนจมน้ำตาย
ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัด ก่อนหน้านี้ โลมาอิรวดีตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว ปล่อยปลาบึกปี 2545-51 พอปลาโต คนเริ่มจับ ในช่วงปี 2550-2555 โลมาอิรวดี ตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว
หลังจากนั้น จำนวนตายเริ่มลดลง ไม่ใช่เพราะเราแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเพราะโลมาอิรวดีลดลง จนไม่มีเหลือให้ตายยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปลาที่เป็นอาหารถูกจับจนเหลือน้อย น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน จนถึงเลือดชิด ประชากรเหลือน้อยมาก ผสมพันธุ์กันเอง แต่ละปัญหานำพามาสู่เลข 14 และอาจเป็น 14 สุดท้ายที่จะสูญสิ้นในรุ่นเราตายหมดสิ้นสูญพันธุ์
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
เปิดสถิติ 16 ปี "โลมาอิรวดี" ตาย 94 ตัว
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง สำรวจประชากรโลมาอิรวดี ทั้งโดยวิธีสำรวจทางเรือ สำรวจทางอากาศโดยเครื่องบินเล็กปีกตรึง และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ตั้งแต่ปี 2558-2564 มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบประมาณ 27 ตัว แต่ปัจจุบันปี 2565 มีจำนวนเหลืออยู่ประมาณ 15-20 ตัว
ช่วงปี 2561 มีประกาศแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา แต่แนวโน้มประชากรยังลดลง มีสถิติการตายในช่วง 16 ปีมากถึง 94 ตัว จำเป็นต้องเพิ่มการตรวจตราเฝ้าระวัง ป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือหยุดการใช้เครื่องมือที่เป็นภัยคุกคาม ต่อสัตว์ทะเลหายาก
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
อธิบบดี ทช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องสำรวจศึกษา วิจัย เกี่ยวกับการผสมกันแบบเลือดชิดในกลุ่มโลมาทะเลสาบสงขลา การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ แก้ปัญหาการเกิดมลพิษ การตื้นเขิน และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี รวมทั้งสร้างศูนย์ช่วยเหลือ และพยาบาลสัตว์ทะเล เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติ
สำหรับโลมาอิรวดี จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ
ข้อมูลจากรายงานการเกยตื้นของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่เดือน เม.ย.2549 ถึงเดือน มี.ค. พ.ศ.2565 พบโลมาอิรวดีเดยตื้นตายทั้งหมด 94 ตัว สาเหตุมาจากการติดเครื่องมือประมง ไม่ทราบสาเหตุ และป่วย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในจ.สงขลา พัทลุง
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วราวุธ" ขอบคุณที่เอา "ปูเสฉวน" คืนทะเล ชี้เป็นคนมีชื่อเสียงควรระวัง
"ธรณ์" ชี้ "ปูเสฉวน" ก็มีชีวิต-ไม่ใช่ของเล่น อย่าเลี้ยงเพราะแค่น่ารัก