ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย.ยืนยันไม่พบการนำเข้าช็อกโกแลต Kinder Surprise ในไทย

สังคม
21 เม.ย. 65
07:16
1,173
Logo Thai PBS
อย.ยืนยันไม่พบการนำเข้าช็อกโกแลต Kinder Surprise ในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีพบเด็กอังกฤษล้มป่วยจากการกินช็อกโกแลต Kinder Surprise โดยพบเชื้อซัลโมเนลลาปนเปื้อนในอุจจาระ อย.ยืนยันไม่พบการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้ามาในไทย

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กรณีมีข่าวพบเด็กอังกฤษวัย 3 ขวบล้มป่วยจากการบริโภคช็อกโกแลตคินเดอร์ เซอร์ไพรส์ โดยพบเชื้อซัลโมเนลลาปนเปื้อนในอุจจาระ

อย.ได้ตรวจสอบแล้วและขอยืนยันว่า ไม่มีการนำเข้าช็อกโกแลตนเดอร์ เซอร์ไพรส์ เข้ามาในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้สำนักงานมาตรฐานอาหารของประเทศอังกฤษ (FSA) ได้ประกาศเตือนผู้บริโภคกรณีบริษัทผู้ผลิตเรียกคืนผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตเฟอเรโร ที่ผลิตจากเบลเยียม รุ่นคินเดอร์ เซอร์ไพรส์ ขนาด 20 กรัม และ 20 กรัม x 3 ระบุวันที่ควรบริโภคก่อนระหว่างวันที่ 11 ก.ค.-7 ต.ค. 2565

อย.ได้ตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์คินเดอร์ช็อกโกแลต ตรา เฟอเรโร มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลายรุ่น โดยผู้นำเข้า 2 บริษัท คือ บริษัท เอส.จี.ฟาร์อีสเทิร์น จำกัด และบริษัท ซีโน-แปซิฟิคเทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์คินเดอร์ เซอร์ไพรส์

จากการตรวจสอบข้อมูลการอนุญาต พบว่า คินเดอร์ เซอร์ไพรส์ ช็อกโกแลตนมรูปไข่ (KINDER SURPRISE MILK CHOCOLATE EGG) เลขสารบบอาหาร 10-3-09423-1-0399 สถานะผลิตภัณฑ์สิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2558 โดยเป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนมที่ประกอบด้วย ไข่ช็อกโกแลตล้อมรอบแคปซูลพลาสติกที่มีของเล่นชิ้นเล็กอยู่ข้างใน เข้าข่ายเป็นการบรรจุสิ่งอื่นหรือวัตถุอื่นที่ไม่ใช่อาหารในหีบห่อของภาชนะบรรจุอาหารที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 310) พ.ศ. 2551 ซึ่งด่านอาหารและยา อย. มีการเฝ้าระวังไม่ให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีปัญหาหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหลุดรอดเข้ามาในประเทศได้

รองเลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่บรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยแตกหรือฉีกขาด มีฉลากแสดงข้อมูล เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ ปริมาณน้ำตาลและ/หรือวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณ เดือนและปีที่ผลิต หรือวันเดือนและปีที่หมดอายุ ข้อความแสดงการใช้วัตถุกันเสีย สี หรือการแต่งกลิ่นรสถ้ามีการใช้ แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง