วันนี้ (12 เม.ย.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ว่า เชื้อ COVID-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ครองพื้นที่เกือบ 100% ในแอฟริกาใต้ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาไม่นานพบน้องใหม่ไฟแรงอย่าง BA.4 และ BA.5 มาแย่งพื้นที่เกือบครึ่งแล้ว สะท้อนว่าสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวอาจแพร่ได้ไวกว่า BA.2
ข่าวดีขณะนี้ คือ จำนวนผู้ป่วยหนักในแอฟริกาใต้ยังไม่สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภูมิคุ้มกันจากการติดโอมิครอนรุ่นพี่กันมา หรืออาจจะเป็นข่าวดีว่า BA.4 และ BA.5 อาจจะไม่รุนแรงไปกว่าโอมิครอนตัวอื่น ๆ ก่อนหน้านี้
โปรตีนหนามสไปค์ของ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์เพิ่มจาก BA.2 มา 2 ตำแหน่ง คือ L452R ที่ไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลต้า และแลมป์ดา และ F486V ซึ่งไม่ค่อยพบในสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ 493 ของสายพันธุ์น้องใหม่ถูกเปลี่ยนกลับจาก R มาเป็น Q ซึ่งเหมือนกับสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนโอมิครอน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ การขาดหายไปของตำแหน่งที่ 69-70 ที่พบได้ใน BA.1 แต่หายไปใน BA.2 กลับมาใหม่ใน BA.4 และ BA.5 อีกครั้ง ทำให้การตรวจแยกสายพันธุ์จะง่ายกว่า BA.2 ที่เคยได้ฉายาว่า "โอมิครอนล่องหน" มาก่อนหน้านี้
โปรตีนหนามสไปค์ของ BA.4 และ BA.5 จะเหมือนกัน 100% ความแตกต่างระหว่าง 2 สายพันธุ์จะไปอยู่ที่โปรตีนตัวอื่น เช่น ORF7b, Nucleocapsid และ Membrane ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลต่อคุณสมบัติของไวรัสหรือไม่ยังไม่ชัดเจน