วันนี้ (10 เม.ย.2565) ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 อยู่ที่ 25,139 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 25,072 คน จากต่างประเทศ 67 คน ผู้ป่วยสะสม 1,660,050 คน (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK ตัวเลขอยู่ที่ 23,199 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 250,973 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,993 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 848 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตวันนี้แตะหลักร้อยเป็นวันแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค. อยู่ที่ 108 คน
เสียชีวิตแตะหลักร้อย
ข้อมูลกรมควบคุมโรค รายงานว่ามีแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้น พร้อมเปิดข้อมูลย้อนหลังตัวเลขผู้เสียชีวิตในรอบ 10 วัน
วันที่ 9 เม.ย. เสียชีวิต 108 คน
วันที่ 9 เม.ย. เสียชีวิต 98 คน
วันที่ 8 เม.ย. เสียชีวิต 89 คน
วันที่ 7 เม.ย. เสียชีวิต 91 คน
วันที่ 6 เม.ย. เสียชีวิต 94 คน
วันที่ 5 เม.ย. เสียชีวิต 91 คน
วันที่ 4 เม.ย. เสียชีวิต 97 คน
วันที่ 3 เม.ย. เสียชีวิต 97 คน
วันที่ 2 เม.ย. เสียชีวิต 96 คน
วันที่ 1 เม.ย. เสียชีวิต 92 คน
"นพ.ประสิทธิ์" ห่วงตัวเลขติดเชื้อหลังสงกรานต์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ตัวเลขผู้เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) อยู่ที่ 98 คน ถือว่ายังสูงกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ถึง 3-4 เท่า จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
ขณะเดียวกันมาตรการวัคซีนต้องควบคู่กับมาตรการป้องกัน สวมหน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่างต่อเนื่อง หลังเทศกาลสงกรานต์คาดว่าเราจะเห็นตัวเลขติดเชื้ออยู่ที่ 50,000 - 100,000 คนต่อวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันป้องกันให้ตัวเลขอยู่ในระดับใดที่สำคัญคือต้องดูแลเรื่องการเสียชีวิตไม่ควรให้เกินวันละ 200 คน เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพตั้งรับได้ ซึ่งบางจังหวัดขณะนี้อัตราครองเตียงเกินครึ่งแล้ว
"นพ.นิธิพัฒน์" ห่วงเจ็บป่วยรุนแรงในเด็กเล็ก
ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวานนี้ ระบุว่า ตัวเลขกระโดดพรวดใน 2 วัน จนสถิติยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงแตะหลักสองพันแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตก็กำลังจะทะลุร้อย คงได้เห็นต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อนปรับฐานครั้งใหม่ โดยยังไม่ยอมถึงขาลง ๆ ง่าย ดังหวัง
นอกจากนั้น นพ.นิธิพัฒน์ ยังเป็นห่วงสถานการณ์การเจ็บป่วยรุนแรงของเด็กเล็กในระลอกนี้ที่ป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตให้เห็นบ่อยกว่าระลอกก่อน ที่สัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะแซงหน้ากลุ่มอื่นมา แม้ทุกฝ่ายจะพยายามร่วมมือกันเตรียมการรับมือเต็มที่ แต่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลรักษาเด็กป่วยหนักจากโควิดในบ้านเรามีจำกัด
เด็กเล็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องมีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งทางที่พอช่วยได้ในการเสริมภูมิคุ้มกันทางอ้อม ให้ระหว่างรอวัคซีนในอนาคตคือต้องช่วยกันลดการติดเชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็ก โดยเฉพาะจากสมาชิกในครอบครัว