ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดภาพหายาก ‘แม่เสือโคร่ง’ พร้อมลูก 2 ตัว ในอุทยานฯ แม่วงก์

สิ่งแวดล้อม
9 เม.ย. 65
12:49
2,533
Logo Thai PBS
เปิดภาพหายาก ‘แม่เสือโคร่ง’ พร้อมลูก 2 ตัว ในอุทยานฯ แม่วงก์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เปิดภาพแม่เสือโคร่ง รหัส MKF13 พร้อมลูกเสือ 2 ตัว หลังจากเก็บกู้เมมโมรี่กล้องดักถ่ายที่ตั้งไว้ในพื้นที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ระบุเป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อยนัก

วันนี้ (9 เม.ย.2565) นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดเผยว่า จากงานวิจัยโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า โดยร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) โดย ดร.รุ้งนภา พูลจำปา หัวหน้าโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีระเบียบวิธีวิจัยคือ การติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่า โดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap Survey) ปรับปรุงและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแผนการปล่อยสัตว์กีบคืนสู่ธรรมชาติ (Wildlife Reintroduce) ส่งเสริมระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของชุมชนและโรงเรียนรอบพื้นที่

 

จากผลการติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่า โดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ มีการติดตั้งกล้องจำนวน 94 จุด พบการกระจายของเสือโคร่งตัวเต็มวัยกระจายเต็มพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จำนวน 14 ตัว เป็นเพศผู้ 6 ตัว เพศเมีย 8 ตัว และลูกเสือโคร่ง 2 ตัว เฉลี่ยประมาณ 54.50% ของจำนวนจุดติดตั้ง คิดเป็นความหนานแน่น (ตัว/100 ตร.กม.) เท่ากับ 0.63 (≈ 1) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด 35 ชนิด เช่น ช้างป่า เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว หมีหมา หมาใน หมาจิ้งจอก ชะมดหางปล้อง อีเห็นหน้าด่าง วัวแดง กระทิง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เก้งธรรมดา เป็นต้น ซึ่งจัดจำแนกอยู่ในบัญชี IUCN Red List ด้วย

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 ทีมนักวิจัยได้เข้าเก็บกู้เมมโมรี่กล้องดักถ่าย ที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่ ถ่ายภาพแม่เสือโคร่ง รหัส MKF13 พร้อมลูกเสือ 2 ตัว ไว้ได้ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อย

อีกทั้งยังมีภาพวัวแดง ที่กลับมาตั้งถิ่นฐานอาณาเขตหากินกระจายพันธุ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังจากที่หายไปจากป่าแม่วงก์กว่า 40 ปี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง