วันนี้ (4 เม.ย.2565) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันว่า วัคซีนเข็ม 3 และ 4 ป้องกันอาการรุนแรง หรือ เสียชีวิตได้ แต่ป้องกันการติดเชื้อได้ระยะสั้น เพียง 1-2 เดือน เพราะวัคซีนที่ฉีดในขณะนี้เป็นวัคซีนรุ่นแรก
ถ้าฉีดวัคซีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงกับบางคนได้ เช่น เมื่อติดเชื้อ จะมีอาการรุนแรงขึ้นหรือเกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้อาจเป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีต่อร่างกาย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อ้างอิงข้อมูลจากแพทย์พยาธิวิทยาของเยอรมนี ซึ่งผ่าศพของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต พบอวัยวะต่าง ๆ เกิดการอักเสบ และพบชิ้นส่วนของไวรัสโปรตีน ซึ่งมาจากวัคซีนเกาะติดอยู่ที่เส้นเลือดทั่วไป ซึ่งเป็นอีกข้อมูลที่ต้องจับตากันต่อไป
หลักเกณฑ์คือ หากฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกด้วยเชื้อตาย ให้ฉีดเข็ม 3 และเข็ม 4 ด้วยวัคซีนชนิดอื่น ส่วนคนที่ไม่ได้ฉีดเข็ม 1 เข็ม 2 ด้วยเชื้อตาย ให้ฉีดแค่ 3 เข็ม ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมเชื้อ COVID-19 ทั้งสายพันธุ์เก่า และสายพันธุ์ใหม่ ๆ ในอนาคต
ข้อมูลของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บางส่วนสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ที่ออกมาเมื่อเดือน ม.ค.เตือนว่า การฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มกระตุ้นสูตรดั้งเดิมหลายเข็ม อาจไม่ใช่วิธีรับมือ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว และเรียกร้องให้พัฒนาวัคซีนสูตรใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มแพร่กระจายเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
การฉีดวัคซีนตามสูตรของกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งหมด 4 สูตร รวม 4 เข็ม เช่น ถ้าเข็ม 1 และ 2 เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม เข็มที่ 3 และ 4 เป็นแอสตราเซเนกา (ไวรัลเวกเตอร์) หรือเข็มที่ 3 และ 4 เป็นชนิด mRNA คือไฟเซอร์
หากเข็ม 1 และ 2 เป็นไวรัลเวกเตอร์ คือ แอสตราเซเนกา เข็มที่ 3 และ 4 จะเป็นไฟเซอร์ ซึ่งเข็มที่ 3 และ 4 ต้องเว้นระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป
ขณะที่ นพ.จักรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อธิบายว่า ขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนสูงสุดที่ 4 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อการระบาดของ "โอมิครอน" แต่หากฉีดมากกว่า 4 เข็ม อาจเกิดอาการแพ้ได้
นพ.จักรัฐ ระบุอีกว่า สำหรับคนที่เคยติดเชื้อแล้ว แนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น หลังหายป่วย 3 เดือน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากกการติดเชื้อตามธรรมชาติ ก็จะลดลงเช่นกัน