ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์จีโนมเตือนโอมิครอนกลายพันธุ์ลูกผสม “BA.2 + BA.1.1”

Logo Thai PBS
ศูนย์จีโนมเตือนโอมิครอนกลายพันธุ์ลูกผสม “BA.2 + BA.1.1”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เตือนระวังสายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม “BA.2 + BA.1.1” กลายพันธุ์ก้าวกระโดด ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม "อู่ฮั่น" ถึง 100 ตำแหน่ง ต่างจาก BA.2 ประมาณ 30 ตำแหน่ง ยังไม่พบในประเทศไทย

วันนี้ (25 มี.ค.2565) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเพจ Center for Medical Genomics ระบุว่า มีรายงานจาก"เบลเยียม" แจ้งว่ามีเกิดการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.1.1, และ BA.2 พร้อมกันมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสมที่แพร่กระจายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้ดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของสายพันธุ์ลูกผสมจากเบลเยียมมาจากฐานข้อมูล COVID-19 โลก “GISAID” จำนวน 22 ตัวอย่างมาวิเคราะห์ พบว่า รหัสพันธุกรรมคล้ายกับโอมิครอน ไม่สามารถจำแนกหรือระบุสายพันธุ์ได้ด้วย “แอปพลิเคชัน Pangolin (Pango v.3.1.20 2022- 02-28)”


อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์เชิงลึกด้วย “แอปพลิเคชัน Nextclade” พบว่าไวรัสในคลัสเตอร์นี้ จีโนมส่วนใหญ่มาจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” แต่มีส่วนน้อยได้รับมาจากยีน “ORF1a (2832-10029)” และ “ORF1b(160464-18163)” ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1.1 เข้ามาร่วมผสมเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด


เดิม ฺBA.2 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.1 อยู่ 10 ตำแหน่ง และ BA.1 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 อยู่ 13 ตำแหน่ง เมื่อมาผสมรวมกันส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นถึง 100 ตำแหน่ง และต่างจาก BA.2 ประมาณ 30 ตำแหน่งซึ่งอาจจะเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดในขณะนี้


อาศัยการคำนวณจากรหัสพันธุกรรมและช่วงเวลาที่ตรวจพบ พบว่าสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage นี้ มี “growth advantage” หรือความสามารถในการแพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 0.47 เท่า (47%) ซึ่งไม่มากนัก 


ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage แพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า BA.2 กี่ % ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage มีอาการรุนแรงมากกว่าหรือน้อยกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ BA.1, BA.1.1, BA.2

การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหรือการด้อยประสิทธิภาพวัคซีนไม่น่าจะแตกต่างจาก BA.2 เพราะไม่พบการกลายพันธุ์จำนวนมากบนจีโนมในส่วนของ “ยีน S” ที่ควบคุมการสร้างส่วนหนาม

จากการสแกนหาในฐานข้อมูล COVID-19 โลก "GISAID" ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยจัดเก็บรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่เริ่มการระบาดจนถึงปัจจุบันจำนวนกว่า 9.63 ล้านตัวอย่าง ยังไม่พบ BA.2/BA.1.1 recombined linage ในประเทศไทย

ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองลูกผสม “BA.2 + BA.1.1” เป็นจำนวนมาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯสามารถพัฒนาชุดตรวจ “Mass Array Genotyping” มาตรวจสอบรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ลูกผสมได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงด้วยเวลาที่สั้นกว่าและค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โดยใช้เวลาในการพัฒนาการตรวจไม่เกิน 2 สัปดาห์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง