วันนี้ (17 มี.ค.2565) น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีติดเชื้อโรค COVID-19 ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉิน (UCEP Plus) ตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน ใช้ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย (สีแดง สีเหลือง และสีเขียว) เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2565
ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางที่ สพฉ.กำหนด กรมบัญชีกลางจึงยกเลิกหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 273 ลงวันที่ 18 มิ.ย.2563 และกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดงและสีเหลือง)
-สามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยอัตราการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตฯ (UCEP Plus)
-การเบิกค่ารักษาพยาบาลครอบคลุมการรักษาตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดการรักษา
-หากมีประกันภัย ต้องใช้สิทธิการเบิกจ่ายจากประกันภัยก่อน ส่วนที่เกินจากสิทธิจึงจะสามารถเบิกได้
กรณีผู้ป่วยอาการเล็กน้อย (สีเขียว)
-เข้ารับการรักษา ได้เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 85 แห่ง
-อัตราการเบิกจ่าย ให้เบิกได้เท่ากับอัตราของสถานพยาบาลของทางราชการ ตามที่ สปสช. กำหนด
-รูปแบบการให้บริการ ครอบคลุมทุกกรณี เช่น Hospital Hotel Isolation, Home Isolation, Community Isolation เป็นต้น
-การรักษาพยาบาลเป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
น.ส.กุลยา ระบุอีกว่า การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล ให้สถานพยาบาลของเอกชนเป็นผู้เบิกแทนผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเท่านั้น โดยดำเนินการส่งข้อมูลผ่านระบบของ สปสช. เมื่อกรมบัญชีกลางได้รับข้อมูลจึงจะจ่ายเงินให้สถานพยาบาลของเอกชนภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2565 เป็นต้นไป
ประชาชนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 213 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2565 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6854 4441 ในวัน เวลาราชการ