ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กระจาย "โมลนูพิราเวียร์" ให้ รพ.สัปดาห์หน้า รักษาป่วยโควิดเสี่ยงสูง

สังคม
15 มี.ค. 65
11:32
219
Logo Thai PBS
กระจาย "โมลนูพิราเวียร์" ให้ รพ.สัปดาห์หน้า รักษาป่วยโควิดเสี่ยงสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นพ.มนูญ" เผย "ยาโมลนูพิราเวียร์" เข้าไทยแล้ว เตรียมกระจายให้โรงพยาบาลสัปดาห์หน้า ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงสูง คือ คนที่ไม่ได้รับวัคซีน คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ช่วยลดความรุนแรงของโรค-การเสียชีวิต 30%

วันนี้ (15 มี.ค.2565) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์ค ในคนไข้ที่เพิ่งจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เกิน 5 วัน ยังมีอาการน้อย แต่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินต่อไปเข้าขั้นรุนแรง ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้  

ยานี้เป็นยาต้านไวรัสตัวใหม่ชนิดกิน ขนาด 200 มิลลิกรัม กิน 4 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง นาน 5 วัน สามารถให้กินเป็นคนไข้นอก ช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 30

ยาโมลนูพิราเวียร์เข้าประเทศไทยแล้ว กำลังกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ สัปดาห์หน้า ยานี้มีจำนวนจำกัด ต้องใช้ตามข้อบ่งชี้เท่านั้น ให้กับคนที่มีความเสี่ยงสูง คือ คนที่ไม่เคยได้รับวัคซีน คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ใช่ให้กับคนทั่วไป

ห้ามให้ยาโมลนูพิราเวียร์กับหญิงตั้งครรภ์/อาจจะตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะอาจทำให้ทารกผิดปกติ และไม่ควรใช้กับเด็ก 

นพ.มนูญ ระบุว่า ยานี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น ตามทฤษฎีเป็นไปได้อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งยังไม่มีใครทราบ อาจก่อให้เกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดื้อยา อาจกระตุ้นให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ ต้องติดตามระยะยาวต่อไป

อย่าแปลกใจทำไมองค์การอนามัยโลกไม่เคยแนะนำให้ประเทศต่างๆ ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เพราะไม่มีข้อมูลจากการศึกษายืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้

"เมื่อไรที่เรามียาโมลนูพิราเวียร์และยาต้านไวรัสตัวใหม่แพกซ์โลวิดของบริษัทไฟเซอร์ ที่กำลังจะเข้าประเทศไทยเดือนหน้าจำนวนมากเพียงพอ ถึงเวลาแล้วที่องค์การเภสัชกรรมควรจะหยุดผลิตและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีกต่อไป"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.เปิดไทม์ไลน์ "ยาโมลนูพิราเวียร์" ถึงไทยธ.ค.-ม.ค.65 

บริษัทยาบังกลาเทศเตรียมขายยา "โมลนูพิราเวียร์"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง