สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส พุ่งขึ้น 8 ดอลลาร์ 1 เซนต์ อยู่ที่ 115 ดอลลาร์ 68 เซนต์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2551 และในรอบสัปดาห์นี้ราคาสัญญาพุ่งขึ้นร้อยละ 26.3
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งขึ้น 7 ดอลลาร์ 65 เซนต์ ปิดที่ 118 ดอลลาร์ 11 เซนต์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2556 เและในรอบสัปดาห์นี้ราคาสัญญาพุ่งขึ้นร้อยละ 25.5
ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยให้จับตาในประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอาจกระทบกับอัตราเงินเฟ้อ
ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมวางแนวรับมือหรือมาตรการออกมารองรับในระยะข้างหน้า โดยเตรียมประเมินสถานการณ์รองรับ 2-3 ระดับ
เอกชนเตรียมปรับราคาสินค้าเร็วขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครนที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่ามีโอกาสสูงถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไปอีก 20-30 วัน
ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้ ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ และควรตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นมาเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมอยู่ที่ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นปัจจัยที่กดดันให้ภาคเอกชนปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มเร็วกว่าเดิม จากที่คาดว่าจะตรึงราคาไว้ที่ 2-3 เดือน แต่อาจจะไม่ได้ปรับขึ้นทีเดียวเพราะเกรงว่าจะกระทบกับประชาชน
อ่านข่าวอื่นๆ
"จุรินทร์" ระบุสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบไทย จับตานำเข้า-ส่งออก-เงินเฟ้อ
โรงแรมภูเก็ต-กระบี่ งดรับบัตรเครดิต นักท่องเที่ยวรัสเซีย