การประชุมนัดพิเศษเพื่อหาทางออกต่อปัญหาการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดย 29 ชาติมุสลิมลงมติสนับสนุนยูเครน ขณะที่ 1 ชาติที่เลือกยืนข้างรัสเซีย คือ ซีเรีย และอีก 18 ชาติงดออกเสียง
ท่าทีสื่อบางสำนัก ระบุว่า ชาติมุสลิมเสียงแตกต่อวิกฤตยูเครน-รัสเซีย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่อาจจะสรุปได้ง่ายๆ เพราะการเมืองของชาติอาหรับซับซ้อนกว่าที่เห็น กลุ่มสนับสนุนรัสเซียที่ชัดเจน คือ ซีเรียและอิหร่าน ซึ่งซีเรียเป็นชาติมุสลิมเพียงชาติเดียวที่ออกเสียงค้านมติประณามรัสเซียของสหประชาชาติ
หลังจากรัสเซียบุกยูเครน ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด แห่งซีเรีย ต่อสายพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แสดงความชื่นชมว่าเป็นการแก้ไขประวัติศาสตร์ และฟื้นฟูระเบียบโลก
ย้อนไประหว่างสงครามกลางเมืองของซีเรีย ปี 2558 รัสเซียกลายเป็นมหามิตรของประธานาธิบดีอัลอัสซาด เมื่อส่งกำลังเข้าแทรกแซง ทำให้กองทัพอัสซาดชิงคืนดินแดนกลับคืนมาได้ การประกาศยืนเคียงข้างรัสเซียในครั้งนี้ของซีเรียจึงไม่เหนือความคาดหมาย
ด้านเลบานอน และคูเวต ประกาศชัดเจนว่ายืนข้างยูเครนและสนับสนุนมติชาตะวันตก จากประวัติศาสตร์การถูกรุกรานจากเพื่อนบ้านชาติอาหรับ
จับตาประเทศตะวันออกกลาง "เหยียบเรือสองแคม"
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กลุ่มที่น่าจับตาในตะวันออกกลางคือกลุ่มที่งดออกเสียง ซึ่งไม่ได้สนับสนุนทั้งรัสเซียและยูเครน
ส่วนตัวคิดว่าสงครามที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริหา หรือนาโต และเมื่อเกิดการเผชิญหน้าแล้ว ประเทศใหญ่ๆ ในตะวันออกกลางไม่ต้องการเลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ตุรกี
ประเทศต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่เหยียบเรือสองแคม เนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยงกับผลประโยชน์ที่อาจจะเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนโครงสร้างระบบมหาอำนาจ
เจ้าชายซาอุฯ เสนอเป็นตัวกลางเจรจาลดขัดแย้ง
มีรายงานว่า ประธานาธิบดีปูตินได้พูดคุยกับ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) เสนอเป็นตัวกลางในการเจรจาลดความขัดแย้ง ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีดังกล่าวเป็นความพยายามปรับภาพลักษณ์บทบาทผู้นำทางการทูตของซาอุดีอาระเบีย
อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากชาติอาหรับและโลกมุสลิม คือการปฎิบัติที่แตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยจากยูเครน กับผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นๆ เมื่อยุโรปอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยจากอยู่เครนอย่างอบอุ่นและทันทีทันใด ขณะที่ผู้ลี้ภัยจากซีเรียกว่า 12 ล้านคนใช้เวลาร่วมสิบปีกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ จำนวนมากยังต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยและเผชิญกับความยากลำบาก
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่อาจเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชาติมุสลิมหลายชาติยังคงตั้งคำถาม และประณามการเลือกปฎิบัติจากชาติตะวันตก
อ่านข่าวอื่นๆ
"คนกรุงเคียฟ" หนีสงครามหลบภัยใต้ดิน
"รัสเซีย-ยูเครน" หารือรอบ 2 ยังยุติสงครามไม่ได้
UNGA ประณามรัสเซียบุกยูเครน-ICC สอบก่ออาชญากรรมสงคราม