วันนี้ (28 ก.พ.2565) เพจเฟซบุ๊ก สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยภาพพญาแร้ง "ป๊อก-มิ่ง" โดยระบุว่า "วันนี้มีภาพพิเศษจนอดใจไม่ไหวต้องรีบออกมาส่งให้ทุกท่านเห็น มิ่งลงกินอาหารก่อน
ผ่านไป 10 นาที มิ่งหลบป๊อกลงกิน หลังจากนั้นทั้งสองกินอาหารร่วมกัน เป็นการกินอาหารร่วมกันครั้งเเรก มีการหยอกกันนิดหน่อย วันนี้ให้เป็นซากแพะติดกระดูก"
นายตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากส่งพญาแร้ง "ป๊อก-มิ่ง" เข้าไปอยู่ในกรงฟื้นฟูขนาดใหญ่บริเวณซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ล่าสุดพูดคุยกับนายวชิรดล เเผลงปัญญา หัวหน้าทีมพญาเเร้งภาคสนาม เกี่ยวกับพฤติกรรมของพญาแร้งทั้งคู่ ซึ่งพบสัญญาณที่ดี
14 วันผ่านไปพญาแร้งทั้ง 2 ตัวปรับตัวเข้ากับกรงฟื้นฟูได้ดี และสุขภาพแข็งแรง และมีสัญญาณที่ดีว่าทัั้งคู่ปรับตัว โดยเฉพาะมิ่ง เปิดใจยอมรับป๊อก ยอมให้ยืนคอนคู่กัน และกินอาหารร่วมกันได้ แต่มิ่งยังบินสูงขึ้นรังเทียมไม่ได้
ภาพ:สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
"มิ่ง" ยอมรับ "ป๊อก"แบ่งอาหารให้กิน
หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า การที่บอกว่ามีสัญญาณที่ดีว่ามิ่งยอมรับป๊อก เนื่องจากสังคม และพฤติกรรมของพญาแร้งตัวเมียจะเป็นใหญ่ ปกติถ้าตัวเมีย ลงกินอาหารจะกินจนอิ่ม หรืออาจจะไม่อิ่มแต่จะหวงซาก แต่ปรากฎว่ามิ่ง เหลืออาหารให้ป๊อกกิน ซึ่งเป็นซากแพะติดกระดูก จากนั้นทั้งคู่ก็ไปเกาะคอนเดียวกันได้
การที่มีพฤติกรรมยอมรับ คล้ายจะจับกัน เช่น ยอมรับให้กินอาหารต่อไซร้ขน อาบแดดแบบเดียวกัน แม้ว่าจะเริ่มพบว่าเริ่มมีการผลัดขน ซึ่งอาจจะหมายถึงหมดฤดูกาลผสมพันธุ์แล้วของปีนี้
ภาพ:สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ส่วนพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีช้างและเสือเข้ามาใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า แต่ยังไม่เข้าถึงกรงของพญาแร้งคู่นี้้ ซึ่งมีการวางแนวรั้วไฟฟ้าและสัญญาณเตือนหากมีสัตว์ขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่กรง
สำหรับพญาแร้งป๊อก-มิ่ง เป็นพญาแร้งในกรงเลี้ยง 2 ใน 5 ตัวที่เหลืออยู่หลังจากพญาแร้งในธรรมชาติฝูงสุดท้ายที่ห้วยขาแข้ง สูญพันธุ์จากการถูกวางย่าเบื่อเสือไปเมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้มีความพยายามในการฟื้นฟูประชากรแร้งคืนถิ่น หลังจากประสบความสำเร็จในการนำนกกระเรียนจากกรงเลี้ยงคืนถิ่นที่ จ.บุรรีรัมย์มาแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง