วันนี้ (26 ก.พ.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,615 คน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นวันที่ 2 ของปี 2565 โดยจำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 25,449 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 166 คน ผู้ป่วยสะสม 621,462 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 14,641 คน หายป่วยสะสม 452,510 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 201,044 คน เสียชีวิต 40 คน
กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลจากการตรวจ ATK จำนวน 21,934 คน ซึ่งหากรวมตัวเลขกับที่ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผลตรวจจาก RT-PCR จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 47,549 คน
นอกจากนี้ มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารักษามีอาการปอดอักเสบ 965 คน และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 263 คน
เช็กตัวเลข 7 วันย้อนหลัง "ผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิต"
จากข้อมูลในช่วงวันที่ 20-26 ก.พ.65 พบตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
20 ก.พ.65 ติดเชื้อ 18,953 คน ผล ATK จำนวน 8,814 คน เสียชีวิต 30 คน
21 ก.พ.65 ติดเชื้อ 18,883 คน ผล ATK จำนวน 15,010 คน เสียชีวิต 32 คน
22 ก.พ.65 ติดเชื้อ 18,363 คน ผล ATK จำนวน 14,605 คน เสียชีวิต 35 คน
23 ก.พ.65 ติดเชื้อ 21,064 คน ผล ATK จำนวน 16,890 คน เสียชีวิต 39 คน
24 ก.พ.65 ติดเชื้อ 23,557 คน ผล ATK จำนวน 22,240 คน เสียชีวิต 38 คน
25 ก.พ.65 ติดเชื้อ 24,932 คน ผล ATK จำนวน 22,509 คน เสียชีวิต 41 คน
26 ก.พ.65 ติดเชื้อ 25,615 คน ผล ATK จำนวน 21,934 คน เสียชีวิต 40 คน
ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นด้วย mRNA
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้ว 2 เข็ม หรือถ้าได้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาอีก 1 เข็ม เชื้อก็ยังอาจลงปอด เกิดปอดอักเสบได้ จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาอีก 1 เข็มถึงจะปลอดภัยมากขึ้น
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 93 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เคยผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2 ปีก่อน ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564 และเข็ม 2 วันที่ 13 ก.ย.2564 เตรียมตัวจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แต่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียก่อน ผู้ป่วยไม่ได้ออกนอกบ้าน แต่ติดเชื้อโควิดวันที่ 5 ก.พ.2565 จากคนงานในบ้าน มีเจ็บคอ น้ำมูก ไอบ้าง ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ไม่มีท้องเสีย
มาโรงพยาบาลวันที่ 7 ก.พ. ตรวจ ATK ให้ผลบวก ยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV2 วัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วปกติ 96% เอกซเรย์ปอดปกติ คนไข้สมัครใจขอนอนรักษาตัวที่บ้าน โทรศัพท์ติดตามทุกวัน ไม่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะผู้ป่วยกินยาเบาหวาน และไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอกว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้
ติดตามคนไข้ทางโทรศัพท์ทุกวันจนวันที่ 7 หลังติดเชื้อไวรัสโควิด ผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย น้ำตาลในเลือดตกเหลือ 53 mg% เริ่มมีไข้ เหนื่อยให้เข้ามานอนในโรงพยาบาลทันทีวันที่ 12 ก.พ. 2565 มีไข้ อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ระดับออกซิเจนในเลือดตกเหลือ 92 %
เอกซเรย์ปอดเริ่มมีฝ้าขาวทั้ง 2 ข้าง (จากภาพ) เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ 4,490 ค่าอักเสบในเลือด hs-CRP 57 สูง (ค่าปกติ 0-5) LDH 312 สูงเล็กน้อย (ค่าปกติ 120-246) ได้ออกซิเจนทางจมูก (nasal cannula) 3 ลิตร/นาที ให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ทางเส้นเลือด 5 วัน ไข้ลง ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดดีขึ้น เอกซเรย์ปอดดีขึ้น คนไข้กลับบ้านได้ ไม่ต้องใช้ออกซิเจน
หลังนอนโรงพยาบาล 6 วัน ติดตามเอกซเรย์ปอด 1 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล เอกซเรย์ปอดกลับมาเป็นปกติ (ดูรูป) ปัจจุบันคนไข้สบายดี ไม่เหนื่อย ไม่ไอ กินอาหารได้ดี ถ้าก่อนหน้านี้คนไข้ได้รับวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 อาการหลังติดเชื้อโอมิครอนคงจะเบากว่านี้