วันนี้ (25 ก.พ.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุว่า ทะลุ 431 ล้านแล้ว เมื่อวานนี้ ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,707,438 คน ตายเพิ่ม 8,709 คน รวมแล้วติดไปรวม 431,594,305 คน เสียชีวิตรวม 5,945,912 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ เยอรมนี เกาหลีใต้ รัสเซีย บราซิล และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.03 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.33 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 37.17 เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
มาตรา 59 รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในยามวิกฤติที่มีการระบาดของโรค
ข้อมูลสถานการณ์การระบาด อันรวมถึงการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ จำนวนคนป่วย จำนวนคนเสียชีวิต ถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ประชาชนทุกคนในสังคมรู้เท่าทันสถานการณ์ ตระหนักถึงความสำคัญในการระแวดระวัง ป้องกันตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม
แต่หากเปิดเท่าที่อยากเปิด ไม่เปิดเผยข้อมูลข้างต้น ย่อมมีโอกาสส่งผลให้คนในสังคมไม่ทราบสถานการณ์จริง เข้าใจผิด ละเลยเพิกเฉย และหากวิกฤติมาก ก่อนที่จะรู้ตัว ก็อาจติดเชื้อ ป่วย หรือเสียชีวิตไป และ/หรือแพร่เชื้อต่อให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนอื่นในสังคมไปจำนวนมาก
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุขที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดเพียงพอให้แก่ประชาชน มิใช่ใช้อำนาจหน้าที่ตัดสินใจเปิดสิ่งที่อยากเปิดตามใจชอบ จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม
นี่คือหลักการที่ควรพิจารณา และยังสามารถเห็นได้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด เพราะเน้นการดูแลให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตคนในสังคม
RT-PCR และ ATK
ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า การรายงานเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันจาก RT-PCR นั้นถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าสถานการณ์จริงอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ใช้ ATK เป็นหลัก และหากตรวจเป็นผลบวก ก็มีการนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาตามกระบวนการที่กำหนด
ทั้งนี้ คนที่จะได้รับการตรวจ RT-PCR ในปัจจุบันนั้นมีจำกัด แม้จะมีคนที่ตรวจได้ผลบวกจาก ATK ไปตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ซ้ำ ก็มักเป็นคนที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น อาการหนัก หรือคนที่มีเศรษฐานะ ซึ่งแนวโน้มเป็นสัดส่วนที่น้อยในสังคม
นอกจากนี้ การติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ก็มีข้อมูลทางการแพทย์ชัดเจนว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลต้า โอกาสที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ และมีอาการน้อย มีสัดส่วนที่สูงกว่าครึ่ง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงบริการ RT-PCR ได้ โอกาส overlap กันจึงมีน้อย
หน้าที่ของรัฐจึงจำเป็นต้องรายงานทั้งจำนวนการตรวจและจำนวนผู้ติดเชื้อจากวิธี RT-PCR และจำนวนการตรวจและจำนวนที่ได้ผลบวกจาก ATK ออกมาพร้อมกัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบสถานการณ์และประเมินได้ว่าสถานการณ์จริงมีลักษณะเป็นเช่นไร
สรุป
การจะหยุดรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน จึงเป็นแนวคิดที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในสังคม และการรายงานเพียงจำนวนติดเชื้อยืนยันจาก RT-PCR เพียงอย่างเดียวจึงถือเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าสถานการณ์จริง
ระบบเก็บข้อมูลและรายงานข้อมูลที่ดี จึงต้องนำเสนอข้อมูลอย่างละเอียด หากเป็นสองระบบ ก็รายงานออกมาให้หมด หน้าที่ที่ต้องทำคือ หากกังวลว่าจะ overlap ก็ต้องพัฒนากระบวนการเก็บข้อมูล ตรวจสอบจากผู้ตรวจ
หรือผู้ป่วยว่ามีการตรวจสองวิธีพร้อมกันมากน้อยเพียงใด และรายงานออกมาให้ทราบ ไม่ใช่อ้างว่ามีโอกาส overlap แล้วเลือกรายงานเฉพาะสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าต่ำกว่าความเป็นจริง
สถานการณ์วิกฤติ หน้าสิ่วหน้าขวาน ฉายภาพที่สวยงามทั้งที่กำลังแย่ คนจะไม่รู้เท่าทันสถานการณ์ และไม่สามารถตัดสินใจปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามสถานการณ์
เปิดเท่าที่อยากเปิด ไม่เท่ากับ โปร่งใส
เปิดเท่าที่อยากเปิด ไม่เท่ากับ ไม่ปกปิด
สังคมจะอยู่รอดปลอดภัย ต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ เข้าถึงข้อมูลละเอียด ทำความเข้าใจอย่างถูกต้องถี่ถ้วน และนำความรู้ไปใช้ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญ
นี่คือภูมิคุ้มกันระยะยาว และยั่งยืน