ความคืบหน้าหลังจากทีมวิจัยพญาแร้งจาก 4 หน่วยงานร่วมปล่อยพญาแร้งคู่แรก “ป๊อก-มิ่ง”ในกรงฟื้นฟูที่ซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 30 ปีของการสูญพันธุ์ของพญาแร้งในธรรมชาติ
วันนี้ (16 ก.พ.2565) นายวชิราดล แผลงปัญญา หนึ่งในทีมวิจัยพญาแร้งจากสวนสัตว์นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากผ่านมาแล้ว 2 วันที่ปล่อยพญาแร้งเข้าอยู่ในกรงฟื้นฟู กลางป่าห้วยขาแข้ง พบว่าทั้ง 2 ตัวไม่มีภาวะเครียด กินอาหาร บินได้ปกติดี แสดงว่าทั้งคู่เริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้
นายวชิราดล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ดีหลังจากพบว่าทั้ง 2 ตัวข้นยืนบนคอนคู่กัน และมีการระวังภัยให้กันในระหว่างที่มิ่งไซร้ขน ป๊อกก็ทำหน้าที่ในการมองไปรอบๆ นอกจากนี้ยังพบว่าป๊อก พญาแร้งตัวผู้บินไปเกาะบนรังเทียม และอยู่บนต้นไม้สูง ส่วนมิ่ง ยังบินไม่สูงถึง 15 เมตรแต่อยู่ในระยะที่ปลอดภัยจากศัตรู
ภาพ:วชิราดล แผลงปัญญา
การที่พญาแร้งทั้ง 2 ตัวยืนบนคอนคู่กัน เป็นสัญญาณที่ดีมากเห็นแล้วดีใจ เพราะเป็นพฤติกรรมที่แสดงว่าปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และอยู่ด้วยกันได้ ตอนนี้จึงรอลุ้นว่าจะจับคู่ผสมพันธุ์ทันในฤดูกาลที่จะสิ้นสุดในช่วงเม.ย.นี้หรือไม่
ทีมวิจัยพญาแร้ง กล่าวอีกว่า ส่วนการกินอาหารที่เป็นเนื้อแพะผสมกับไขข้อ ยังเป็นสูตรเดิมก่อนแล้วจะค่อยๆปรับ พบว่ายังกินอาหารได้ปกติ พบว่ามิ่ง พญาแร้งตัวเมีย กินอาหารก่อน และแบ่งอาหารไว้ให้กับป๊อกด้วย
ภาพ:วชิราดล แผลงปัญญา
สำหรับรอบๆพื้นที่ในช่วง 2 วันหลังจากนำพญาแร้งเข้ามาอยู่ ยังไม่พบมีรอยเท้าของสัตว์ผู้ล่า เข้ามาใกล้พื้นที่ มีเพียงนกในพื้นที่เข้ามาส่งเสียงบริเวณใกล้เคียง โดยขณะนี้ยังมีทีมติดตามพฤติกรรมพญาแร้งและเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
30 ปีฟื้นฟู “พญาแร้ง” คืนป่าห้วยขาแข้ง
สำเร็จ! “พญาแร้ง" คู่แรก กลับบ้าน "ห้วยขาแข้ง" ในรอบ 30 ปี
เปิดบ้านกลางป่า "พญาแร้ง" ก่อนส่งตัว 14 ก.พ.นี้