วันนี้ (14 ก.พ.2565) เวลา 06.00 น.ทีมนักวิจัยพญาแร้งเริ่มปฎิบัติการเคลื่อนย้าย พญาแร้งชื่อ “ป๊อก-มิ่ง” จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพื่อนำไปอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในโครงการฟื้นฟูประชากรแร้งคืนถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ปี 2565 และเป็นครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์พญาแร้งตายยกฝูงจากการกินยาเบื่อ เพื่อนำมาดักเสือโคร่ง เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2535
ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้ทีมงานไม่เกิน 20 คน เพื่อลดความเครียดต่อพญาแร้ง เริ่มภารกิจตั้งแต่เข้าตรู่ และใช้กว่า 1 ชั่วโมงขนย้ายพญาแร้ง 2 ตัวในกล่องมาอย่างทะนุถนอม โดยสัตวแพทย์ต้องคอยวัดอุณหภูมิ และตรวจดูอาการพญาแร้งเป็นระยะๆ
“ป๊อก” ชอบบ้านใหม่บินสำรวจพื้นที่
จากนั้น เมื่อพญาแร้งทั้ง 2 ตัวเดินทางมาถึง ในกรงฟื้นฟูขนาด 20x20x40 เมตร บริเวณซับฟ้าผ่า ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทีมวิจัยค่อยๆ เปิดให้เห็นโฉมหน้าพญาแร้ง ตัวแรก โดยพบว่า “ป๊อก” พญาแร้งตัวผู้โผบินขึ้นเกาะคอนไม้ทันที โดยกางปีกผึ่งแดดอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง จากนั่นเริ่มบินสำรวจบ้านหลังใหม่ ขึ้นเกาะต้นไม้สูง 15 เมตร
ส่วน ”มิ่ง” พญาแร้งตัวเมีย หลังจากออกจากกล่อง ยังยืนนิ่งๆ อยู่จุดเดิมข้างกรงเกือบครึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงเริ่มบินต่ำ สายตาสำรวจรอบพื้นที่ ซึ่งทีมสัตวแพทย์บอกว่าผลการปล่อยค่อนข้างดีทั้ง 2 ตัวไม่เครียด
ประเมินสุขภาพพญาแร้ง 2 ตัวไม่เครียด
ด้าน สพ.ญ.เสาวภางค์ สนั่นหนู หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ ปฏิบัติงานสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า ก่อนนำพญาแร้งทั้ง 2 ตัวเข้ามาในป่า ได้ผ่านการตรวจโรคระบาดในสัตว์จากกรมปศุสัตว์แล้ว สุขภาพแข็งแรง
ป๊อก และมิ่งผ่านเกณฑ์การจับคู่ในช่วงเจริญพันธุ์ หลังจากพามาจับคู่เทียบกันเมื่อ 8 วันก่อน ไม่พบว่ามีการตีกัน จากการชั่งน้ำหนัก ป๊อกน้ำหนัก 3.5 กก.ลดลงเล็กน้อย ส่วนมิ่งน้ำหนัก 6 ก.ก.กินอาหารดี
ตอนเข้ากรงฟื้นฟู ทั้งคู่กางปีกผึ่งแดด และบินเกาะต้นไม้ แสดงว่าทั้งคู่ไม่ได้รับบาดเจ็บจากการเคลื่อนย้าย จากนี้จะติดตามพฤติกรรมว่าปรับเข้ากับพื้นที่ได้หรือไม่
นายชัยอนันต์ โชคสวัสดิ์ ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูพญาแร้ง องค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า พญาแร้ง ซึ่งได้รับฉายาว่าเทศบาลประจำป่า สูญพันธุ์จากห้วยขาแข้งนาน 30 ปี ทำให้กระทบวงจรนิเวศ เช่น การล่าเหยื่อของเสือโคร่งเดิมจะใช้เวลากินเหยื่อและมีพญาแร้งมาช่วยกำจัดซาก 3 วัน ทำให้ตัดวงจรการแพร่ระบาดจากสัตว์ป่า ดังนั้นการนำพญาแร้งกลับมาที่ห้วยขาแข้ง คาดหวังจะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศถ้าเขามีลูกหลานในป่า
วินาทีที่เห็นบินเกาะคอนก็ดีใจแล้ว แต่วินาทีบินขึ้นต้นไม้ในห้วยขาแข้ง หมายถึง 30 ปี เขาได้กลับบ้านแล้ว
สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรแร้งคืนถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ปี 2565 และเป็นครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์พญาแร้งตายยกฝูงจากการกินยาเบื่อเพื่อนำมาดักเสือเมื่อ 14 ก.พ.2535
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง