ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถึงไทยแล้ว ไฟเซอร์เด็กล็อตแรก 3 แสนโดส ฉีด 31 ม.ค.นี้

สังคม
26 ม.ค. 65
17:21
848
Logo Thai PBS
ถึงไทยแล้ว ไฟเซอร์เด็กล็อตแรก 3 แสนโดส ฉีด 31 ม.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถึงไทยแล้ว วัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรก 3 แสนโดส เตรียมฉีดกลุ่มแรกเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค วันที่ 31 ม.ค.นี้ ยืนยันผลข้างเคียงน้อย ปลอดภัยกว่าไม่ฉีดวัคซีน ส่วนระยะห่างเข็ม 2 ปรับแผนฉีดเป็น 8-12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

วันนี้ (26 ม.ค.2565) วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรก 300,000 โดส มาถึงประเทศไทยแล้ว และจะทยอยเข้ามาในไตรมาสแรกเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ จำนวน 3,500,000 โดส จากทั้งหมด 10,000,000 โดส ขณะนี้มีเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวน 5,000,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มโรค จำนวน 900,000 คน โดยวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะนำร่องฉีดในเด็กกลุ่มนี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์เด็กจะมีฝาปิดสีส้ม ซึ่ง 1 ขวดหลังผสมน้ำเกลือแล้วจะฉีดได้ 10 โดส และสามารถเก็บวัคซีนในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส นาน 10 สัปดาห์ ผลข้างเคียงหลังฉีดไม่รุนแรง หายได้เองภายใน 1-2 วัน เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว เมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย

ระยะห่างการฉีดเข็ม 2 เป็น 8-12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกัน สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 และอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของกุมารแพทย์ ที่จะตรวจสอบประวัติและโรคประจำตัวของเด็ก

ยืนยันวัคซีนเด็กผลข้างเคียงน้อย-ปลอดภัย

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า วัคซีนในเด็กมีผลข้างเคียงน้อย และปลอดภัยมากกว่าการไม่ฉีดวัคซีน จากการศึกษาการฉีดในสหรัฐอเมริกา กว่า 9,000,000 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์ มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 11 คน แต่อาการน้อยมาก ส่วนที่อังกฤษ ฉีดเข็ม 2 ห่างประมาณ 8 สัปดาห์ พบว่าภูมิขึ้นดี ผลข้างเคียงน้อย

 

สำหรับแนวทางดูแลส่งต่อเด็กกรณีสงสัยอาการรุนแรง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคหัวใจ มักมีอาการภายใน 2-7 วัน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น และกลุ่มอื่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียน กินอาหารไม่ได้ และเด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว ให้ไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง