ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2" 14 คน เสียชีวิต 1 คน

สังคม
26 ม.ค. 65
13:10
19,744
Logo Thai PBS
ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2" 14 คน เสียชีวิต 1 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สะสม 14 คน เสียชีวิต 1 คน เป็นหญิงสูงอายุ ป่วยติดเตียง ขณะที่ยอดรวมการเสียชีวิตของโอมิครอน 7 คน หรือ 0.1% ของการติดเชื้อ

วันนี้ (26 ม.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 ว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 จำนวน 14 คน โดยเดินทางมาจากต่างประเทศ 9 คน และติดเชื้อภายในประเทศ 5 คน ในจำนวนนี้ 1 คน เสียชีวิต เป็นหญิงอายุ 86 ปี อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงและเป็นโรคอัลไซเมอร์ พบมีการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว โดยหญิงคนดังกล่าวเป็นผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนรายแรกของไทย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังยืนยันไม่ได้ว่า BA.2 อาการรุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่ แต่ในภาพรวมได้ส่งข้อมูลของผู้ติดเชื้อโอมิครอน 7,000 กว่าคน ให้กรมการแพทย์ติดตามอาการ เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 7 คน หรือ 0.1% ซึ่งถือเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งต้องตรวจสอบข้อมูลปัจจัยการฉีดวัคซีนกับระดับความรุนแรงของโรค

ในอนาคตหากเดลตาถูกแทนด้วยโอมิครอน เดลตาที่กลายพันธุ์ก็ไม่มีความหมาย เพราะผู้ติดเชื้อในประเทศส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน โดยต้องจับตาดูสายพันธุ์ย่อย เช่น BA.2 และ BA.3 หรือการกลายพันธุ์อื่น ๆ เกิดขึ้น ก็ต้องใช้ระบบในการตรวจจับกลายพันธุ์ได้เร็วและไวเพียงพอ

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไทยเหมือนหลายประเทศในโลก เดือน ก.พ. จะเจอสายพันธุ์โอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ ป่วยได้มาก แพร่เชื้อได้เร็ว แต่อาการรุนแรง ป่วยหนัก เสียชีวิตยังน้อย

อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องบูสเตอร์ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังและเสียชีวิต ซึ่งในรอบของการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรือได้รับวัคซีน และมีภูมิคุ้มกันมากพอ มีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก ส่วนผู้สูงอายุมีความเสี่ยงมากขึ้น จึงเชิญชวนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ไทยเจอสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 14 คน จากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนหมื่นกว่าราย ต้องดูสัปดาห์ถัด ๆ ไปว่า BA.2 จะโผล่ขึ้นมาแบบนี้นัยสำคัญมากขนาดไหน

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้สรุปได้ว่ายังไม่ต้องวิตกกังวลอะไร เบื้องต้นคาดว่ายังไม่มีความรุนแรงมากกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากโอมิครอนระบาดทั่วโลกแล้ว 2-3 เดือน แต่จำนวนของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่ได้เยอะมาก ต้องรอดูสถานการณ์ ส่วนการกลายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วโลกต้องเฝ้าระวังร่วมกันในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ไทยพบแล้ว 9 คน โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2" 

คนแรก! หญิงสูงวัยชาวสงขลา ป่วยติดเตียงติด "โอมิครอน" ตาย 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง