ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์พิเศษไทยพีบีเอส ถึงเหตุผลความจำเป็นที่คนไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เพราะมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยัน หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หากเกิน 3 เดือนขึ้นไปภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดลง และยังพบว่าผู้ติดเชื้อโอมิครอนบางส่วน ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ประมาณ 4-5 เดือน
ทำไมต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3
ศ.นพ.ประสิทธิ์ : มีการศึกษาวิจัยยืนยันในต่างประเทศรวมทั้งในประเทศไทย จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีการศึกษาการฉีดวัคซีนสูตรต่าง ๆ รวมทั้งสูตรไขว้ มีการเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน พบว่าการตอบสนองต่อเชื้อโอมิครอนต่ำว่าการตอบสนองต่อเชื้อเดลตา สมมติว่าป้องกันเดลตาได้ 80% โอมิครอนประสิทธิภาพจะต่ำกว่า
และเมื่อฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ระดับภูมิคุ้มกันที่ขึ้น หรือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งภูมิคุ้มกันก็จะลดต่ำลงเรื่อย ๆ จึงต้องรีบฉีดเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น มีข้อมูลพบว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโอมิครอน เกิดอุบัติการณ์ของคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ในบางประเทศผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนเกือบ 40% มีประวัติฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และเกือบทั้งสิ้นมักจะเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน 4-5 เดือน และพบว่าคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเกิดการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอีกได้ แสดงให้เห็นว่าระบบภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง และโอมิครอนต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าเดลตา ทำให้เห็นว่าเมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หลังผ่านไปแล้ว 3 เดือน มีแนวโน้มว่าภูมิคุ้มกันจะไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ เหมือนกับการฉีด 2 เข็มเพื่อป้องกันเดลตา
นี่คือเหตุผลหลักที่องค์การอนามัยโลกเห็นว่าทุกประเทศต้องเร่งฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก เพื่อควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด เพราะถ้าเกิดการระบาดมาก ในอดีตพบว่าหากมีผู้ติดเชื้อวันละหลายหมื่นคน บ่อยครั้งจะเกิดสายพันธุ์ใหม่หรือกลายพันธุ์ขึ้น
ข้อกังวลเชื้อโอมิครอนต่อผู้สูงอายุ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ : แม้ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ตัวเลขทั่วโลกอัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าเดลตา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรุนแรงหากติดเชื้อจำนวนมาก สมมติว่าติดเชื้อ 1,000 คน มีโอกาสอาการรุนแรง 5 คน ถ้าติดเชื้อ 10,000 คน อาการรุนแรง 50 คน และถ้าติดเชื้อ 100,000 คน อาการรุนแรง 500 คน ตัวเลขจะมากขึ้นถ้าการติดเชื้อเป็นไปมากขึ้น และบ่อยครั้งที่โควิด-19 เกิดความรุนแรงกับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ซึ่งคนเหล่านี้ในประเทศไทยและรวมทั่วทั้งโลก มีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงต้องขอให้รีบมาฉีดวัคซีน
กรณีคนไทย 2 คน ที่เสียชีวิตจากโอมิครอนเป็นผู้สูงอายุ มี 1 คนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนอีกคนฉีดครบ 2 เข็ม แต่เวลาผ่านไป 4-5 เดือน สะท้อนว่าหากเกิน 3 เดือนขึ้นไปต้องรีบฉีดเข็มที่ 3 หรือหากยังไม่ได้ฉีดก็ขอให้รีบไปฉีด เพราะไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดถ้าเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ขณะนี้มีวัคซีนมากพอ ไม่ว่าจะฉีดสูตรใดมีหลักฐานการวิจัยยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน
ประเมินการฉีดเข็ม 3
ศ.นพ.ประสิทธิ์ : ตอนนี้การฉีดเข็มที่ 1 ดีมากแล้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของคนไทยฉีดเข็มที่ 1 แล้ว และประมาณ 2 ใน 3 ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว แต่เข็ม 3 ประมาณ 14-15% ซึ่งขณะนี้นี้ต้องการกระตุ้นให้ฉีด มี 2-3
ปัจจัยที่คิดว่าทำให้การฉีดเข็มที่ 3 ยากกว่า ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยในต่างประเทศก็เช่นกัน ปัจจัยแรกคนยังไม่เข้าใจ คิดว่าฉีด 2 เข็มพอแล้ว บางคนก็ยังเข้าใจของเดิมว่าฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิคุ้มกันอยู่ได้ 4-6 เดือน รอไปก่อน แต่สำหรับโอมิครอนรอไม่ได้ ซึ่งการฉีดเข็มที่ 3 ไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเดี๋ยวรอสัก 4-5 เดือนแล้วค่อยไปฉีดเข็มที่ 3 แต่ขณะนี้ต้องการเร่งที่ 3 เดือนให้มาฉีดเข็มที่ 3
และคนจำนวนนึงยังไม่มั่นใจว่าฉีดเข็มที่ 3 แล้วต้องมีเข็มที่ 4 หรือเข็มที่ 5 ต่อมั้ย ก็เลยเกิดการรีรอที่จะฉีด ดังนั้นถ้าฉีดเข็มที่ 3 ในเดือนม.ค. อาจจะไม่ต้องฉีดเข็มที่ 4 รอเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 เลย คาดว่าจะออกมาช่วงเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. ซึ่งวัคซีนรุ่นที่ 2 จะมีอะไรหลายๆอย่างดีกว่ารุ่นที่ 1
เราคงอยู่กับโควิด-19 อีกระยะหนึ่ง เร็วช้าขึ้นอยู่กับความร่วมมือกัน อย่ามองว่าฉีดวัคซีนเพื่อตัวเองอย่างเดียว เราฉีดเพื่อส่วนรวมด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่ทุกคนฉีดแล้วเยอะมากจริงๆ เราก็มีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะใกล้ปกติได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ถ้าอัตราการเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นเลย ก็จะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น