ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนหันบริโภค "ปลานิล" ทางเลือกช่วงหมูแพง

เศรษฐกิจ
18 ม.ค. 65
11:19
1,471
Logo Thai PBS
คนหันบริโภค "ปลานิล" ทางเลือกช่วงหมูแพง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประชาชนบางส่วนหันมาบริโภคเนื้อปลา ทดแทนเนื้อหมูที่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะปลานิล ส่งผลให้ตลาดขายปลาคึกคักมากขึ้น-ยอดขายปลีกเพิ่ม

หลังจากราคาหมูแพงขึ้น คนบางกลุ่มหันไปบริโภคโปรตีนทางเลือกอื่นทดแทนอย่าง "เนื้อปลา" โดยที่ จ.พิมาย จ.นครราชสีมา ผู้เลี้ยงปลากระชังขายมานานหลายปี บอกว่า พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดมาซื้อปลานิลและปลาทับทิมไปขาย วันละ 200 กิโลกรัม จนปลานิลในกระชังโตไม่ทัน ขณะที่ตลาดสดขอนแก่น ปลานิล-ปลาช่อนปรับขึ้นราคากิโลกรัมละ 2-5 บาท

ส่วนที่ตลาดสะพานปลากรุงเทพ เป็นตลาดค้าส่ง โดยพรทิพย์ ธราพร หัวหน้าสำนักงานสะพานปลากรุงเทพ บอกว่า ราคาภาพรวมไม่ได้เพิ่ม แต่ราคาที่เพิ่มเป็นการขายปลีก

ยอดขายตอนนี้ของสะพานกรุงเทพยังทรงๆ ลดไม่มาก เพิ่มขึ้นก็ไม่มาก ในเรื่องของเนื้อปลาที่จะออกไป อย่างเช่นปลานิล จากเมื่อก่อนเคยมาวันหนึ่งไม่กี่ตัน ตอนนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากสัตว์น้ำที่เคยมา

สำหรับบรรยากาศที่ตลาดสะพานปลากรุงเทพวันนี้ (18 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีปลาน้ำจืดเข้ามาส่งตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น. หลังจากนั้นก็มีการขนปลาลงมาขายไปจนถึงช่วงสายๆ โดยจะต้องคัดแยกประเภทปลาและขนาด ส่วนยอดขายของแต่ละแพปลาก็แตกต่างกันไป


ธาดา สายเย็นประเสริฐ แพปลา ป.สินอนันต์ ตลาดสะพานปลากรุงเทพ เปิดเผยว่า ปลานิล ปลาตะเพียนราคาดีขึ้น ส่วนผู้ที่มาส่งปลาก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย ประมาณ 30-50% เพราะราคาปลานิลดีขึ้น เมื่อขายดีขึ้น ราคาก็แพงขึ้นประมาณ 20-30%

ขณะที่เชาวน์ ตันติศิริรักษ์ แพปลา เชาวน์นำโชค ตลาดสะพานปลากรุงเทพ กล่าวว่า ราคาปลาบางตัวก็ดีขึ้น บางตัวก็ไม่ดี อย่างปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ ราคาจะร่วง ส่วนปลานิลยังพอไปได้ในช่วงนี้

ส่วนแม่ค้าปลาขายปลีกที่มาเลือกซื้อปลา บอกว่า ตั้งแต่หมูราคาเพิ่มสูงขึ้น ยอดขายปลาก็ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนำไปขายต่อเป็นตัวๆ หรือแปรรูปต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มเป็นหลักหมื่นบาท จากก่อนหน้านี้ที่ได้ 3,000-4,000 บาท


สำหรับผลผลิตปลานิลในปี 2564 คาดว่ามีประมาณ 210,000 ตัน มูลค่าราวๆ 10,000 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเลี้ยงในรอบปี, ปริมาณฝนตกทั่วถึงทุกๆ พื้นที่ และเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดใหญ่ก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง ซึ่งเพิ่มอัตราการรอด รวมทั้งมีการเพิ่มอัตราการปล่อยลูกพันธุ์

ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2554-2563) มีจำนวนฟาร์มเลี้ยงเฉลี่ย 512,000 ฟาร์มต่อปี ผลผลิตเฉลี่ย 414,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าปีละ 24,000 ล้านบาท ซึ่ง "ปลานิล" มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุด โดยมีจำนวนฟาร์มเลี้ยงเฉลี่ยเกือบ 300,000 ฟาร์มต่อปี ผลผลิตเฉลี่ย 200,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 9,900 ล้านบาทต่อปี

อ่านข่าวอื่นๆ

"พาณิชย์" ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาของแพง-ห้ามขึ้นราคาน้ำอัดลม

"มะละกอ-ข้าวเหนียว" แพงตามหมู กระทบร้านอาหารอีสาน

เทรนด์ใหม่! กินเนื้อจระเข้ ราคา 100-240 บ. หลังหมูแพง ไก่ขึ้นราคา

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง