วันนี้ (17 ม.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ "เดลตา" และ "โอมิครอน" ว่า การทดสอบจะใช้ไวรัสตัวเป็นๆ ที่เพราะเชื้อได้จำนวนมากพอในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทดสอบโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT)
ตามหลักการจะเก็บน้ำเลือด หรือซีรั่ม ของคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว และนำมาปั่นแยกเอาน้ำเลือดออกมา ก่อนใส่ลงไปในจานทดลองที่มีเชื้อไวรัสโอมิครอนอยู่ โดยจะเจือจางซีรั่มไปเรื่อยๆ จนเหลือค่าไวรัสครึ่งหนึ่ง หรือที่ระดับ 50 จึงหยุด และถือว่าเป็นการเจื้อจางในระดับสุดท้ายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้
ข้อมูลทั้ง 8 สูตรวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย แต่ไม่ได้ทดลองซิโนแวค-ซิโนแวค เนื่องจากมีการเปลี่ยนเป็นสูตรไขว้ในภายหลัง โดยมีการเก็บเลือดหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์ เพราะถือเป็นช่วงที่มีระดับภูมิคุ้มกันมากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้
พบว่า เกือบทุกสูตร ภูมิคุ้มกันในเลือดที่เคยต่อสู้กับเชื้อเดลตาได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อมาเจอกับเชื้อโอมิครอนกลับลดลงทุกกรณี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่เคยมีว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสน่าจะหลบวัคซีนได้มาก และหลายประเทศมีการทดสอบก็ได้ผลใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อ "โอมิครอน" พบว่า กลุ่มคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ภูมิขึ้นไม่สูงมากนัก แม้จะเป็นไฟเซอร์ทั้ง 2 เข็มก็ตาม
ไม่ว่าสูตรไหนก็ตาม 2 เข็ม ตอนนี้กับโอมิครอน พูดง่ายๆ กันได้ไม่มาก
ขณะที่กลุ่มที่ฉีด 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม แล้วตามด้วยแอสตราฯ, หรือซิโนแวค 2 เข็ม แล้วตามด้วยไฟเซอร์, หรือแอสตราฯ 2 เข็ม แล้วตามด้วยไฟเซอร์ พบว่าภูมิขึ้นมาค่อนข้างดี ทั้งนี้การทดลองดังกล่าววัดภูมิคุ้มกันที่อยู่ในน้ำเลือดที่จะไปลบล้างฤทธิ์ของไวรัส
เมื่อเทียบการจัดการเดลตากับโอมิครอน พบว่าภูมิลดลงไป เช่น ซิโนแวค-แอสตราฯ เดิมเคยจัดการกับเดลตาได้ในระดับ 201 แต่เมื่อมาเจอโอมิครอน เหลือเพียง 12 หายไป 17 เท่า ลดลงค่อนข้างเยอะ
นพ.ศุภกิจ ย้ำว่า วัคซีนทุกสูตรทำให้ภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อโอมิครอนลดลง แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะป้องกันไวรัสโอมิครอนได้ดี และต้องติดตามการคงอยู่ของระดับภูมิคุ้มกันในระยะต่อไป ซึ่งการฉีดวัคซีนทุกสูตรยังช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตของผู้ป่วยในทุกสายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรซิโนแวค-แอสตราฯ แล้วตามด้วยแอสตราฯ หรือไฟเซอร์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหาเลือดมาตรวจและคาดว่าจะเริ่มทดสอบได้ในเร็วๆนี้
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า หากติดเชื้อโอมิครอนแล้ว ภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อจะช่วยจัดการเดลตาได้ด้วยหรือไม่นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้มีการทดสอบเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลประวัติเรื่องวัคซีนอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ดังนั้นขอเวลาในการทดสอบ ก่อนรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบ
อ่านข่าวอื่นๆ
ป้องกัน "โอมิครอน" ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เปิดภูมิคุ้มกันหลังเข็ม 3
ศูนย์จีโนมฯ ระบุโควิด- 19 ใกล้ End game กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
หมอธีระระบุวิจัย "Long COVID" พบปัญหา "ด้านความจำ-เหนื่อยล้า"