กระแสกังวลเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ว่าอาจจะมีประสิทธิภาพในการพบเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนได้ไม่ดีเท่าเดลตาหรือสายพันธุ์เดิมๆ ทำให้บางประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนคำแนะนำในการใช้ชุดตรวจชนิดนี้แล้ว โดยให้เพิ่มการเก็บตัวอย่างจากในลำคอด้วย
ทั้งนี้ในประเทศอิสราเอล ที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ออกคำแนะนำให้ประชาชนที่ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง ใช้วิธีเก็บตัวอย่างจากทั้งจมูกและคอ เพื่อเพิ่มความแม่นยำตรวจหาเชื้อโอมิครอน เนื่องจากชุดตรวจ ATK มีความไวไม่เท่าการตรวจ PCR
โดยคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ระบุคำแนะนำว่า ให้ใช้ก้านสวอป เก็บตัวอย่างจากในลำคอ จากนั้นให้เอาก้านเดิม เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกอีก 1 ข้าง แล้วทำตามขั้นตอนปกติ คือนำปลายก้านสำลี ไปปั่นในกระเปาะน้ำยา ก่อนจะหยดลงชุดตรวจแอนติเจน เพื่อรอดูผลตามปกติ
ทั้งนี้แม้จะไม่ใช่วิธีใช้ที่บริษัทผู้ผลิตชุดตรวจกำหนดมา แต่ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล จะแนะนำให้ประชาชนที่ตรวจตัวเองทำแบบนี้เพื่อเพิ่มโอกาสเจอเชื้อ
แนะนำสวอปเยื่อบุคอ 2 ข้างบริเวณทอลซิล
ไทยพีบีเอส สอบถามข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมจาก ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต จากหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์อธิบายว่า ถ้าจะเก็บตัวอย่างจากช่องคอให้ใช้ก้านสำลีเฉพาะที่ได้มากับชุดตรวจสวอบจมูก ไม่แนะนำให้ใช้ cotton bud และถ้าจะทำควรทำอย่างระมัดระวังพร้อมกับส่องกระจกไปด้วย
โดยใช้ก้านสำลียาวปาดไปที่เยื่อบุคอ 2 ข้างซ้ายขวา บริเวณทอนซิล ให้ระวังค่อยๆ ปาด ไม่ควรจิ้ม เพราะจะทำให้เป็นแผลได้ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปลึกถึงบริเวณหลังคอ
ผลการศึกษาที่นำมา ซึ่งการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการตรวจพบโอมิครอน ซึ่งได้นำคนอาชีพเสี่ยง และติดเชื้อโอมิครอน 29 คน มาตรวจหาเชื้อพร้อมกัน 2 วิธี ทั้งสวอบคอ นำน้ำลายไปตรวจ PCR กับสวอบจมูกไปตรวจ ATK
พอตรวจคู่กันแบบนี้ไปหลายๆวัน พบว่า ผลตรวจ PCR น้ำลายเจอผลบวก ก่อนประมาณ 3 วัน ซึ่งตอนนี้ยังการเป็นผลศึกษาเบื้องต้น ที่เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ เมด-อาร์ไคฟ์ และยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ
แพทย์ไทยแนะเพิ่มความถี่ใช้ ATK ตรวจหาโควิด
หลังจากมีการเผยผลการศึกษานี้ออกมา ปรากฏว่าสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ เตือนว่า ชุดตรวจที่ให้สวอปจมูก ก็ควรใช้สวอปจมูก ตามวิธีใช้ที่กำหนดโดยผู้ผลิต ไม่ควรเอาไปสวอบคอเองเพราะอาจเกิดอันตราย แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ จะแนะนำให้บริษัทผู้ผลิตชุดตรวจยื่นขออนุมัติให้ผู้ใช้งานสวอปคอเพื่อตรวจหาเชื้อได้ด้วยก็ตาม
ความไม่แน่นอนนี้ ยังทำให้เยอรมนี เป็นอีกประเทศที่ประกาศเตรียมศึกษาประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ว่าไวต่อโอมิครอนมากน้อยแค่ไหน คาดว่าจะทราบผลอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่อย่างไรทางการเยอรมนีก็ย้ำว่า จะแม่นมากหรือน้อย ก็แม่นกว่าไม่ตรวจเลย
สอดคล้องกับอาจารย์ปกรัฐ ที่ฝากไว้ว่า ความไวของชุดตรวจ สู้ความถี่ในการตรวจไม่ได้ หมายถึงยิ่งตรวจบ่อย ยิ่งมีโอกาสพบเชื้อมากกว่า ต่อให้จะใช้วิธีการตรวจที่ไวต่อเชื้อโอมิครอนน้อยกว่าก็ตาม ส่วนความชัดเจนในการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองตอนนี้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศ