วันนี้ (10 ม.ค.2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงการคาดการณ์สถานการณ์ COVID-19 ว่า จากการคาดการณ์ฉากทัศน์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ พบว่า ใน 3 เส้นถ้าควบคุมโรคดีจะเป็นสีเขียว และถ้าควบคุมโรคปานกลางจะเป็นลักษณะเส้นสีส้ม แต่หากควบคุมโรคไม่ดีจะเป็นเส้นสีเทา
ตัวเลขค่อนข้างขึ้นมาเร็ว เป็นตามเส้นสีเทา ต้องใช้มาตรการต่างๆมากขึ้น ส่วนมาตรการที่มีอยู่ถ้าได้รับความร่วมจากทุกฝ่ายจะช่วยควบคุมโรคได้ ทั้งนี้ สธ.เร่งกดอัตราการติดเชื้อลดลง
ส่วนตัวเลขอัตราการตาย ขณะนี้ผู้เสียชีวิตยังต่ำกว่าเส้นสีเขียว อัตราการตายลดลง และจากการระบาดของโอมิครอน ในช่วงที่ผ่านมา หลังปีใหม่มีการติดเชื้อมากขึ้น ก่อนปีใหม่ตัวเลขหลัก 2,000 กว่าคนแต่หลังปีใหม่เพิ่มขึ้น 7,000-8,000 คนต่อวัน และตอนนี้สธ.ปรับมาตรการเตือนภัยระดับ 4 เพื่อขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตราการต่างๆอย่างเคร่งครัด
การระบาดรอบนี้ มาจากร้านอาหารกึ่งผับ การสังสรรค์ที่ไม่มีมาตรการที่พอเพียงทำให้ระบาดวงกว้าง และตอนนี้ เตือนไปยังสถานประกอบการ ที่อาจะพบการรระบาดในโรงงานในระยะถัดไป ขอให้ผู้ประกอบการเคร่งครัดในการทำบับเบิลแอนด์ซีล
อ่านข่าวเพิ่ม กทม.เข้า Home isolation แล้ว 2,682 คน
งัด 4 มาตรการรับมือโอมิครอนระลอกใหม่
ปลัดสธ.กล่าวถึงแผนรับมือโอมิครอนว่า ตอนนี้ไทยสู้กับโควิดมาแล้ว 3 ปี ซึ่งตอนแรกโรคโควิด เข้ามาคิดว่าจะคล้ายกับโรคไข้หวัดนก และโรคซาร์ส ที่เข้ามาแล้วสู้ และกำจัดได้ในระยะหนึ่ง และลดเคสได้เร็ว แต่เนื่องจากโควิด เป็นการระบาดจากทั่วโลก วนไปวนมา และกลับมาเข้าในช่วงพ.ค.-ส.ค.64 มีการระบาดจำนวนมาก แต่หลังการต่อสู้ทั้งการฉีดวัคซีน การป้องกันตัวเองของประชาชน การเปิดประ เทศ และอยู่ร่วมกับโควิด ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง ดังนั้นในปี 2565 จึงเน้นการชะลอการระบาด เพื่อไม่ให้กระทบระบบสาธารณสุข เพื่อให้รับมือได้
ปี 2565 เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ มีการกลายพันธุ์ของเชื้อ แต่รุนแรงน้อยกว่า แต่แพร่ระบาดเร็ว สธ.พิจารณาบริหารจัดการให้การรระบาดครั้งนี้ เป็นโรคประจำถิ่น เพราะเชื้อจะลดความรุนแรงด้วยตัวเชื้อโรคเอง และประชาชนมีภูมิมากขึ้น มีการรักษาและชะลอการรักษา
เปิดแผนรับมือ 4 มาตรการ
มาตรการทางสาธารณสุข
- ชะลอการระบาด ระบบสาธารณสุขดูแลได้
- ฉีดวัคซีน เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ซึ่งยังขอให้เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่นำเข้ามามีคุณภาพและยอมรับจากองค์การอนามัยโลก
- คัดกรองตนเองด้วย ATK ราคา 35-40 บาท และขอรับบริการที่คลิกนิกได้
- ติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์
มาตรการทางสังคม
- ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด
- สถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด
มาตรการการแพทย์
- ระบบสายด่วนประสานการดุแลผู้ติดเชื้อ
- ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน
- เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์
มาตรการสนับสนุน
- ค่าบริการรักษาพยาบาล
- ค่าตรวจต่างๆ
ประชาชนต้องปลอดภัย ประเทศไทยจะเดินไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งจะยึดหลัก V-U-C-A ซึ่งจะเน้น ATK เฟิร์ส เพราะการตรวจที่ศึกษาหลายล้านชิ้น ยังมีประสิทธิภาพและดักจับโรคโควิด ป้องกันการระบาดได้ ต่อไปต้องใช้เป็นประจำ ด้วยตัวเองและในโรงพยาบาล
อ่านข่าวเพิ่ม "โอมิครอน" 5,397 คนลาม 71 จังหวัด กรมวิทย์ฯ พบกระจายหนัก
ปรับแผนคัดกรองโควิดใช้ ATK-อาการน้อย
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการปรับแผนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรครุนแรงต่ำ แต่สามารถติดเชื้อเร็วขึ้น วิธีการคัดกรอง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาอาจต้องปรับ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ขณะนี้การตรวจด้วย RT-PCR ต้องรอนาน วิธีการยุ่งยากและค่าตรวจแพง ซึ่งสปสช.ใช้แล้วหลายหมื่นล้านบาท
กรณีผู้สงสัยติดเชื้อ ให้เริ่มต้นจาก ATK และผลบวก หากไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และไม่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ มีโรค จะได้รับการดูแลโดย HI/CI แต่ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงถึงจะตรวจด้วย ด้วย RT-PCR และนำเข้าสู่ระบบการรักษา
และกรณีที่มีผลเป็นลบ ไม่มีอาการ มีประวัติเสี่ยง ให้ Self-Quarantine และต้องตรวจ ATK ทุก 3 วัน หรือถ้าผ่านไป 2 วันมีอาการก็ตรวจซ้ำได้ และถ้ามีอาการรุนแรงก็กลับเข้าวงจรเดิม แต่ถ้าไม่มีประวัติเสี่ยง ให้ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"หมอแล็บแพนด้า" แนะตรวจ ATK ต้องอ่านผลภายใน 10-15 นาที
ปู่ย่าตระเวนพาหลาน 8 เดือนติดโควิดหารพ.-"หมอยง" ชี้เด็กตัวแปรกระจายเชื้อ