ผมถามตัวเองหลายครั้งว่าทำไมผมยังมีชีวิตอยู่ ในคืนที่หนาวมากจนผมนอนไม่หลับ บางครั้งไม่สบาย บางวันไม่มีข้าวกิน แต่ผมคิดว่าเพราะคนไทยใจดีช่วยผมไว้ แม้เราจะไม่รู้จักกัน พวกเขาก็ช่วยผมทุกวัน
เมื่อโรคระบาด COVID-19 ทำให้หลายประเทศรวมถึงจีนเลือกนโยบายปิดประเทศ ค่าใช้จ่ายการเดินทางกลับจีนกระโดดจากหลักพันเป็นครึ่งแสน กลายเป็นอุปสรรคให้ "จาง เจียะ" หรือ เจ ชาวจีนวัย 35 ปี นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ก ติดอยู่ในไทยอย่างไม่คาดคิด และต้องดิ้นรนใช้ชีวิตในฐานะคนไร้บ้านจากต่างแดน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี จาง เจียะ อาศัยสะพานลอยและสวนลุมพินีเป็นที่นอน อาบน้ำและซักผ้าที่มีอยู่เพียงชุดเดียวในห้องน้ำสาธารณะ ตากผ้าใต้เต็นท์ในสวน และมีกิจวัตรประจำวัน คือ การต่อคิวรอรับอาหารร่วมกับคนไร้บ้านคนอื่น ๆ บางครั้งที่คนมากกว่าอาหาร สุดท้าย จาง เจียะต้องซื้อข้าวเปล่ามาผสมน้ำตาลฟรีกินประทังชีวิต
ข้าวสาร อาหารแห้ง หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ที่ไม่ได้ใช้ถูกนำไปขายต่อด้วยราคาลด 50% จากซูเปอร์มาเก็ต เพื่อนำเงินมาซื้อบัตรรถเมล์รายสัปดาห์เดินทางในกรุงเทพฯ ไวไฟฟรีและจุดชาร์จแบตโทรศัพท์เป็นอีกพื้นที่ประจำของจาง เจียะในการใช้ชีวิตต่างแดน แต่วันที่ต้องเผชิญกับโรคภัย ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตวันต่อ ๆ ไป
"ผมถามตัวเองหลายครั้งว่าทำไมผมยังมีชีวิตอยู่ ในคืนที่หนาวมากจนผมนอนไม่หลับ บางครั้งผมไม่สบาย บางวันก็ไม่มีข้าวกิน ผมคิดว่าเพราะคนไทยใจดีช่วยผมไว้ แม้ว่าจะไม่รู้จักผม แต่พวกเขาก็มาช่วยผมทุกวัน และเพราะผู้คนมากมายที่ช่วยผมไว้ ผมจะทำให้พวกเขาผิดหวังไม่ได้ ผมต้องพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไป"
ในวันที่เกือบยอมแพ้กับชีวิต จาง เจียะ ได้พบกับคนที่เขาเรียกว่า "ลุงสมนึก" ชายที่เข้ามาพูดคุยด้วยหลังเขาไปต่อแถวรับอาหาร ก่อนจะก้าวเข้ามาช่วยหาที่อยู่และระดมทุนหวังส่งจาง เจียะกลับประเทศจีนได้ในเร็ววัน
"สมนึก เจตน์จิราวัฒน์" รวมกลุ่มกับเพื่อนและครอบครัวทำอาหารไปแจกจ่ายให้คนไร้บ้านในหลายพื้นที่ทั้งหัวลำโพง ราชดำเนิน ไปจนถึงหน้าวัดบวรนิเวศราชวรวิหารจนได้พบกับจาง เจียะ พร้อมแลกเบอร์ติดต่อกัน กระทั่งวันที่ 7 พ.ย.2564 คนไร้บ้านต่างแดนคนนี้ก็ได้ส่งข้อความขอความช่วยเหลือให้ช่วยส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาเท้าซึ่งเป็นแผลจากแมลงกัดต่อย
หลังรักษาตัวแล้ว นายสมนึก ไม่ได้ไปส่งจาง เจียะที่สวนลุมพินี แต่กลับพาไปตัดผม พร้อมหาที่อยู่เป็นโฮสต์เทลของเพื่อนในย่านตลาดน้อยให้จาง เจียะอยู่ ก่อนจะระดมทุนเพื่อนเพื่อช่วยค่าเดินทางกลับประเทศจีน เพราะตั้งใจว่าหากช่วยแล้วก็พร้อมจะช่วยให้สุดทาง
ผมก็ระวังเรื่องถูกหลอก ไปเช็กประวัติเขาที่ดีเอสไอ เช็กพาสปอร์ตก็ไม่พบปัญหา ผมคิดว่าถ้าเราอยากช่วยแล้วก็ไม่ต้องคิดมาก และอยากช่วยให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
นายสมนึก ให้เหตุผลถึงการช่วยเหลือจาง เจียะครั้งนี้ว่า เรื่องคนไร้ถิ่นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน หากมองว่าเป็นปัญหา การช่วยเหลือก็จะกลายเป็นการแก้ปัญหา แต่หากมองว่าเป็นความเมตตา ก็จะทำให้เข้าใจพวกเขามากขึ้น และช่วยได้ตรงจุด ส่งเสริมให้พวกเขาได้ทำงานและภูมิใจที่เขายืนกลับมาใหม่ได้อีกครั้ง
ผมไม่ได้มองเป็นปัญหา ถ้าทุกคนมีความเมตตา อย่างไรก็แก้ได้ สมมติวันนี้ กรุงเทพมี 2 หมื่นคน เราดึงเขาออกมา 2 คน ยิ่งทำมากก็ยิ่งน้อยขึ้น