ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ธุรกิจการแพทย์ฯ-อีคอมเมิร์ซ" ดาวเด่นปี 65

เศรษฐกิจ
29 ธ.ค. 64
08:58
2,507
Logo Thai PBS
"ธุรกิจการแพทย์ฯ-อีคอมเมิร์ซ" ดาวเด่นปี 65
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ธุรกิจดาวเด่นในปี 2565 ยังคงเป็นธุรกิจการแพทย์และความงาม และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จากปัจจัยสนับสนุนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาด้วยธุรกิจแพลตฟอร์ม และธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้า

วันนี้ (29 ธ.ค.2564) จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยมีการปรับตัวรับเทคโนโลยีมากขึ้น จากการใช้ชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือนิวนอร์มอล

ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากาก ใช้เจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างทางสังคม และพฤติกรรมดังกล่าว ยังกลายเป็นแรงสนับสนุนธุรกิจการแพทย์และความงาม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจแพลตฟอร์มไปแบบไม่ได้ตั้งใจ

โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ว่ากันว่าหากไม่มีโรคโควิด-19 อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการเข้าสู่ขยายวงกว้าง แต่พอโควิด-19 เข้ามา คนออกไปมาไหนลำบากมากขึ้น เพราะกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19

ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ และโควิด-19 ที่แพร่ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า จนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปสูงสุดเป็นหลักหมื่นคน ทำให้คนต้องมาทำงานที่บ้านมากขึ้น และจำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์แทน

ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ประเมินธุรกิจดาวเด่นในปี 2565 ซึ่งอันดับ 1 ยังคงเป็นธุรกิจการแพทย์และความงาม และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เหมือนในปี 2564

ทั้งนี้ ธุรกิจการแพทย์และความงาม ได้รับปัจจัยสนับสนุนอย่างกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและดูแลความงามยังคงมีอย่างต่อเนื่อง คุณภาพการรักษาของประเทศไทยมีราคาไม่แพง และได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ

ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้รับปัจจัยสนับสนุนอย่างพฤิตกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และผู้ประกอบการหันมาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ระบบขนส่งที่ทันสมัยและรวดเร็ว และมีความสะดวกในจำนวนสาขาที่มากขึ้น ระบบการชำระเงินที่หลากหลาย

ส่วนอันดับ 2 ธุรกิจแพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลาง หรือ ตลาดกลางทางด้านอิเล็กทรอนิกส์) จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการใช้เทคโนโลยี กระแสการพัฒนาแพลตฟอร์มทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อันดับ 3 ธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้า, ธุรกิจด้าน Fintech และการชำระเงินฝากระบบเทคโนโลยี และธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต โดยธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้า ได้รับปัจจัยสนับสนุนบริการส่งสินค้าจากการซื้อผ่านออนไลน์

ทำให้ความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้มีการขนส่งที่กระจายพื้นที่มากขึ้น ส่วนธุรกิจด้าน Fintech และการชำระเงินฝากระบบเทคโนโลยี ได้รับปัจจัยสนับสนุนอย่างพฤติกรรมการชำระเงิน

ด้วยอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มขึ้น และนโยบายการละเว้นค่าธรรมเนียมทางการเงิน ในการโอน การชำระเงิน และอื่นๆ การพัฒนาแหล่งการชำระเงินตามร้านค้า ผู้ประกอบการที่มีการชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต มีการซื้อประกันเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและคนในครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งมีความรู้และความเข้าใจมีมากขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายหากมีภัยเกิดขึ้น มาตรการลดหย่อนภาษี และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

อันดับ 4 ได้แก่ ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา, ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ และทางการแพทย์, ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการเรียนรู้และการศึกษาเกี่ยวกับการรักษา โดยการซื้อยา และการซื้อยาผ่านทางออนไลน์ทำได้ง่ายขึ้น

อันดับ 5 ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ, ธุรกิจขายตรง สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนวิตกเรื่องสุขภาพ หลายคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการป้องกันตัวเองจากโรค ส่งผลให้สินค้ากลุ่มที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นที่ต้องการมากขึ้น

เช่น วิตามิน เครื่องดื่มผสมวิตามิน อาหารเสริมต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฟื้นฟูบำรุงร่างกาย มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เทรนด์สุขภาพขยายตัวได้ดี ระดับราคาอาหารเสริมและสุขภาพมีราคาไม่สูง

อันดับ 6 ธุรกิจแปรรูปยาง เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง เป็นต้น, ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ได้รับปัจจัยสนับสนุนโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังต้องมีการใช้ถุงมือยางในการป้องกันการสัมผัสการติดเชื้อ

ส่วนอาหารสำเร็จรูป ประชาชนมีการกักตุนสินค้าที่สามารถประกอบอาหารได้ง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงการเข้าไปในชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะสถานที่ปิดไม่มีอากาศถ่ายเท และตลาดสดต่างๆ

อันดับ 7 ได้แก่ ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber และการรีวิวสินค้า, ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป การดูแลสุขภาพสัตว์ โดยธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ได้รับปัจจับสนับสนุนจากพฤติกรรมการติดตามสื่อของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป

สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้สะดวก รวดเร็วและง่ายมากขึ้น ต้นทุนประกอบธุรกิจต่ำ ส่วนธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ มาจากประชาชนที่อยู่เป็นโสดหันไปเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน เพื่อคลายความเหงา ขณะที่คนมีคู่ หลายคนไม่อยากมีลูก จึงหันไปเลี้ยงสัตว์แทน

ส่วนอันดับ 8 ได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์, ธุรกิจ Modern Trade ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อันดับ 9 ได้แก่ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และอันดับ 10 ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์, ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบ, ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

"พิมรี่พาย" ชี้แจงแก้ปัญหาคลินิก-กล่องสุ่ม โอนเงินคืนแล้ว ขอโอกาสไปต่อ

ไฟไหม้โรงงานผลิตยางในนิคมฯ ลาดกระบัง คุมเพลิงได้แล้ว

ประชาชนทยอยกลับภาคอีสานก่อนหยุดปีใหม่

สหรัฐฯ ลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อโควิดเหลือ 5 วัน 

เจอตัว "งาอ้วนเล็ก" ช้างเขาใหญ่บาดเจ็บลงแช่น้ำหางเกือบขาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง