วันนี้ (27 ธ.ค.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ต้องการดูแลประชาชนอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ทันเวลา ต้องการลดการแพร่กระจายเชื้อและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19
ข้อมูลเบื้องต้นอาการของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไม่แตกต่างจากอาการ COVID-19 มากนัก ส่วนใหญ่มีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ ไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ บางรายมีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่มากนัก ให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์หลังมีอาการภายใน 3 วัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ
ข้อมูลจากเกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่า โอมิครอนไม่รุนแรงกว่าเดลตาแน่ ๆ และหลายประเทศบอกว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลตาพอสมควร
ข้อมูลจากผู้ป่วยติด COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 100 คนแรกในไทย พบว่า เป็นผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศ 99 คน ในประเทศ 1 คน ไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 11% ในจำนวน 100 คนแรกดังกล่าว ยังไม่มีผู้ป่วยรายใดต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต แต่มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 7 คน โดยทุกคนได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 2 โดส
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีเตียงเฉพาะรองรับผู้ติดเชื้อที่ปอดอักเสบรุนแรง จำนวน 11,000 เตียง รองรับผู้ป่วยโอมิครอนอาการรุนแรง 785 คนต่อวัน สถานการณ์เตียงยังไม่มีปัญหาอะไร
อย่างไรก็ตาม Home isolation จะเป็นคำตอบของการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดต่อกลับให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ส่วนกรุงเทพมหานคร เตรียม Community isolation ประมาณ 10,000 เตียง
นอกจากนี้ เตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ รองรับผู้ป่วยเด็ก และทำ Community isolation สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีผู้ปกครองดูแลในกรุงเทพฯ อย่างน้อยโซนละ 1 แห่ง และจัดระบบส่งต่อโรงพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรง
เราจะใช้มาตรการ Home isolation เป็นหลัก เพราะพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง มีประโยชน์
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิต้านทานคงอยู่ และหลีกเลี่ยงการเข้าสถานที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด