วันนี้ (23 ธ.ค.2564) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซ บุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ทะลุ 277 ล้านไปแล้ว เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 828,916 คน ตายเพิ่ม 6,743 คน รวมแล้วติดไปรวม 277,420,699 คน เสียชีวิต 5,392,089 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ นคิดเป็นร้อยละ 90.95 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.48
ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรป คิดเป็นร้อยละ 56.01 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 55.7 เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สถานการณ์ไทย ติดเชื้อเพิ่ม 2,532 คน สูงเป็นอันดับ 37 ของโลกหากรวม ATK อีก 788 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 32 ของโลกยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย
ภาพรวมการระบาดของโอมิครอน สหรัฐอเมริกาติดเชื้อใหม่สูงถึง 202,277 คน ถือว่าเกินสองแสนต่อวันเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการระบาดของ โอมิครอน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้วภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์
ในขณะที่สหราชอาณาจักร ทะลุแสนคนต่อวันเป็นครั้งแรกตั้งแต่เคยมีการระบาดของโรคโควิด-19 มาตลอดสองปี เมื่อวานติดไปถึง 106,122 คน คิดเป็น 156% ของปลายปีก่อน
ส่วนฝรั่งเศส และสเปนก็ทำ New High ตั้งแต่เคยระบาดมาเช่นกัน ด้วยยอด 84,272 และ 60,041 คนตามลำดับ
ในแง่ของความรุนแรงของโอมิครอน ที่ทำให้ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล ตอนนี้มีการศึกษาเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ อังกฤษ และสก๊อตแลนด์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ดูจะมีแนวโน้มที่ความรุนแรงจะน้อยกว่าเดลต้าราว 30-70%
หากเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน โดยพิจารณาจากเรื่องอัตราการนอนโรงพยาบาลและระยะเวลานอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามนี่เป็นการศึกษาที่สังเกตจากช่วงต้นของการระบาด ยังจำเป็นต้องติดตามภาพรวมจากประเทศอื่นทั่วโลก และใช้เวลาติดตามนานกว่านี้ด้วยเพื่อให้มีความแม่นยำขึ้น
ทั้งนี้หากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตย่อมสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน และไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็ย่อมทำให้เสี่ยงสูงทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะอย่างไรการที่โอมิครอน ติดเชื้อแพร่เชื้อได้ไวขึ้นกว่าเดลตา ถึง 4.1 เท่า หรือ 410% ของเดลตา แม้ความรุนแรงที่จะทำให้ป่วยรุนแรงหรือตายลดลงไปครึ่งหนึ่ง จำนวนของผู้ติดเชื้อโอมิครอน จะสูงขึ้นพรวดพราดอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้มีการป่วยการเสียชีวิตที่สูงเท่ากับหรือมากกว่าเดิมได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศต่างๆ กังวลอย่างมาก
หมอแนะเลี่ยงฉลองปีใหม่-คริสต์มาสเลี่ยงรับเชื้อ
สำหรับไทยเป็นไปตามที่ได้เคยเตือนไว้ว่า ตามธรรมชาติของการระบาด และเงื่อนเวลาที่จะสังเกตเห็นผลจากการประกาศนโยบายเปิดรับความเสี่ยง เรื่องรับนักท่องเที่ยว และคนเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่พฤศจิกายน เราจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนได้ตั้งแต่หลังสัปดาห์ที่ 3 ของธ.ค.นี้ ซึ่งตอนนี้ก็คงเห็นกันแล้ว เดิมพันในการควบคุมป้องกันการระบาดที่กำลังปะทุครั้งนี้ ยังยืนยันเช่นเดิม
หนึ่ง ระบบการกักตัว 14 วัน และตรวจ RT-PCR อย่างน้อย 2 ครั้ง จำเป็นต้องทำอย่างเคร่งครัด หากผันไปใช้ ATK หรือย่อหย่อนไม่กักตัว หรือตรวจ RT-PCR น้อยครั้งลง ความเสี่ยงที่จะหลุดและส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคมย่อมเกิดขึ้นแน่ ดังที่เห็นว่าเกิดขึ้นไปแล้ว และย้อนเวลากลับคืนไม่ได้
การหวังโกยเงินเพื่อเศรษฐกิจโดยที่ระบบป้องกันไม่แข็งแรงพอ จะกลายเป็นเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
สอง จำเป็นต้องเตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยมีศักยภาพในการตรวจจำนวนมากและต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงได้ง่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์หยุมหยิม และฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจะสามารถรับมือการระบาดได้ทัน
สาม วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ และมีความเพียงพอ จุดนี้แล้ววัคซีนหลักควรใช้วัคซ๊นที่มีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น mRNA vaccines ไม่ว่าจะเป็น Pfizer/Biontech หรือ Moderna ยกเว้นคนที่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้ได้นอกจากนี้เข็มกระตุ้นก็จำเป็นต้องเป็น mRNA vaccines
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท พรุ่งนี้ (24 ธ.ค.) ก็ Christmas Eve และต่อด้วย Christmas จากนั้นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ควรงดตะลอนท่องเที่ยว งดการร่วมงานปาร์ตี้สังสรรค์คริสต์มาส และปีใหม่ ฉลองกับคนในครอบครัวที่บ้านก็พอ
จากบทเรียนต่างประเทศ หากไม่ระวัง ผลกระทบมากมายจะตามมา ใส่หน้ากากเสมอ และอยู่ห่างคนอื่นเกิน 1 เมตร มีอาการไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานและรีบตรวจรักษา ไม่ว่าจะเป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัวผิดปกติ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล
บทเรียนปาร์ตี้คริสต์มาสนอร์เวย์ พบติดเชื้อโอมิครอน
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระ ได้วิเคราะห์กรณีการแพร่ระบาดของโอมิครอนแบบ superspreading จากปาร์ตี้คริสต์มาส ของประเทศนอร์เวย์ อัตราการติดเชื้อของกลุ่มคนในงานปาร์ตี้สูงมากถึง 74% (81 จาก 110 คน) ทั้งที่มีถึง 89% ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม ระยะฟักตัวสั้นเพียง 3 วัน (ช่วงเวลาจากติดเชื้อจนมีอาการ) ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อ 81 คนนั้น มีถึง 80 คน ที่ติดเชื้อแล้วมีอาการ นั่นคือสูงถึง 99%
ยังไม่นับการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกหลายสิบคน จากกลุ่มที่มาใช้สถานที่เดิมต่อจากปาร์ตี้ ดังนั้นจึงต้องระวังโอมิครอนให้มากๆ เพราะเหตุการณ์หลายเรื่องในหลายประเทศ ชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มติดจาก aerosol transmission คือไวรัสฟุ้งกระจาย เป็นละอองขนาดเล็กมาก และแขวนลอยในอากาศได้นานหลายชั่วโมง หากสถานที่เป็นระบบปิด ระบายอากาศไม่ดี และคนที่มาใช้สถานที่นั้นไม่ได้ป้องกันตัว ไม่ใส่หน้ากาก และอยู่เป็นเวลานาน