ปัจจุบันทั่วโลกเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสังคมไทย มีการพูดถึง LGBTQ+ มากขึ้น เห็นได้จากสื่อบันเทิงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ต่างๆ
กระแสของซีรีส์วาย หรือกลุ่มรักเพศเดียวกัน นำมาสู่คำถามว่า หากวัยรุ่นให้ความนิยมหรืออ่านนิยายเหล่านี้ จะส่งผลต่อพฤติกรรมหรือเกิดการเบี่ยงเบนทางเพศได้หรือไม่ ? หลายครั้งสื่อถูกมองว่าชี้ให้สังคม หรือทำให้คนในสังคมเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
สื่อส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางเพศจริงหรือไม่ ?
รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เรื่องนี้ จะตอบว่า ขาว -ดำ คงไม่ได้ ถูก - ผิด คงไม่ได้ ผู้ที่ที่มีความรู้สึกว่าจะเปลี่ยน หรือรู้สึกว่าตนเองมีความรู้สึกอย่างไร จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุ ตามวัย ไม่คิดว่าเมื่อมาเจอซีรีส์วายเรื่องเดียว จะทำให้เขาเปลี่ยนรสนิยมตรงนั้น ไม่ได้มองไปขนาดนั้น
กรณีสาววาย กลุ่มนี้เป็นผู้หญิงแต่ชอบพระเอก พระเอกที่เล่นซีรีส์วาย แต่ตนไม่ได้สนับสนุนว่า จะต้องชายรักชาย เพียงแต่เขานิยมชมชื่นว่า น่ารัก หน้าตาดีมากกว่า ส่วนตัวเชื่อว่า คนจะเป็นมีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง
นพ.กระเษียร กล่าวว่า หากพูดถึงซีรีย์วาย กลายเป็นสื่อบันเทิงที่คนให้ความสนใจมากขึ้น นักแสดงมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ามีการเปิดรับมากขึ้นว่า ในสังคมมีบุคคลกลุ่มที่รักเพศเดียวกัน บุคคลกลุ่มข้ามเพศ ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ประชาชนทั่วไปดูและยอมรับ
นพ.กระเษียร กล่าวว่า บางคนเพิ่งมารู้ว่า ตัวเองมีรสนิยมทางเพศเป็นแบบไหนเมื่ออายุมากแล้ว หากกลับไปถามว่า คนเหล่านี้รู้สึกตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ เชื่อว่าเขารู้สึกตัวตั้งแต่เด็ก เพียงแต่เขาไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่กล้าบอกใคร ไม่กล้าบอกสังคม
มาถึงจุดหนึ่งเข้าคิดว่า เขาพร้อมแล้ว พร้อมที่จะเปลี่ยนแล้ว เขาจะประกาศ อาจไม่ถูกต้อง 100 % แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะสื่อที่เสพ คนคนหนึ่งต่อให้เสพสื่อแค่ไหน เปลี่ยนรสนิยมยาก เพราะรสนิยมเป็นเรื่องซับซ้อนมาก
เราบังคับใครไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว หญิงเป็นชาย ตัดเต้านมแล้วแต่ข้างล่างยังมีอวัยวะเพศหญิง ซึ่งเขาก็มีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย เพราะยังมีช่องคลอดก็มี ในโลกนี้หากนับจริง ๆ มีเกิน 18 เพศ มันเป็นเรื่องรสนิยม
เพราะฉะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าสื่อต่างๆ จะทำให้มนุษย์เบี่ยงเบนหรือไม่ แต่หากมีอายุน้อย วุฒิภาวะไม่มาก หากจะดูสื่อควรได้รับการแนะนำจากผู้ปกครอง หรือการจัดเรตสื่อก็ยังเห็นว่ามีความเหมาะสม
ให้โอกาสพ่อแม่เข้าใจกลุ่มหลากหลายทางเพศ
พ่อแม่จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ แต่อาจต้องใช้เวลา เช่นกรณีของนักเรียนชั้น ม.2 พ่อเป็นตำรวจ คุณแม่พามาปรึกษาที่คลินิกฯ คุณแม่เข้าใจว่า ลูกอยากแต่งเป็นผู้หญิง อยากใส่กระโปรง อยากมีเต้านมมาปรึกษา แต่พ่อไม่ยอมรับเพราะอยากให้เป็นผู้ชาย จึงนั่งคุยกับเด็ก เพื่อให้รู้ว่ามีความคิดแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะเป็นแบบไหน และอยู่ใน LGBTQ+ ในกลุ่มใด
สรุปว่า เขาเป็น T คือ อยากจะข้ามเพศ ติดว่ายังอยู่ชั้น ม.2 ทำให้ไม่สามารถนุ่งกระโปรง หรือมีเต้านมได้ จึงปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ว่า มีความต้องการอย่างไร และมีความพร้อมอย่างไร และเมื่อได้คุยกับแม่ ก็ยอมที่จะให้รับฮอร์โมน ยอมให้มีเต้านม แต่กฎโรงเรียนก็ต้องทำตามไม่สามารถใส่กระโปรงได้
ตอนนี้นิสิตคณะแพทย์ จุฬาฯ ก็ยอมรับว่า สามารถแต่งหญิงได้ ในกลุ่มหญิงข้ามเพศ และมีหลักสูตรการดูแลบุคคลข้ามเพศในการเรียนของนิสิตแพทย์ปี 2 และปี 3 แล้ว
ในช่วงเด็กต้องคุยกับผู้ปกครอง เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะมาก หากเทียบเคียงว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงในคนที่เป็นฝรั่งตัวจะโตมาก เมื่อโตแล้วหากจะเปลี่ยนเป็นผู้หญิงคงไม่ไหว เพราะฉะนั้นในฝรั่งจะเปลี่ยนก่อนวัยเจริญพันธุ์ หรือก่อนอายุ 11 -12 เมื่อโตเป็นหนุ่มไปหมดแล้ว ผู้หญิงก็เช่นเดียวกันต้องเปลี่ยนตั้งแต่แรก โดยการให้ยายับยั้งเพื่อไม่ให้ก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มในกรณีหญิงข้ามเพศ และให้ฮอร์โมนสำหรับเป็นหญิงข้ามเพศเลย
ข้อดีของคนไทยคือตัวเล็ก รูปร่างบอบบาง จึงสวย จึงง่าย เช่น กรณีของมิสทิฟฟานี่ที่ไม่ต้องให้ฮอร์โมนก่อนวัยเจริญพันธุ์ ก็มาเทคฮอร์โมนทีหลัง
นพ.เกษียร กล่าวว่า หากเทคฮอร์โมนภายหลังวัยเจริญพันธุ์ก็พอไหว ซึ่งแต่ละเพศ แต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน ในวัยรุ่นต้องดูว่า ถึงวัยเจริญพันธุ์แล้วหรือไม่ หรือมีปัญหากับผู้ปกครองหรือไม่ เพราะต้องขอนุญาตผู้ปกครองก่อน
การดูแล "ผู้ใหญ่-เด็ก" แตกต่างกัน
ในกลุ่มผู้ใหญ่ค่อนข้างเสถียร รู้ตัวเอง ดำรงชีวิตแบบนี้มานาน ตัดสินใจง่าย จิตแพทย์ดูแลง่าย หากพร้อมก็จะสามารถให้ฮอร์โมนข้ามเพศได้ แต่ต้องผ่านการประเมินทุกอย่างแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของหญิงอายุ 48 ปี อยากเป็นชาย แต่ไม่เคยใช้ฮอร์โมนเลย แต่ทำตัวเป็นทอม แมน และรัดหน้าอก และมาตกผลึก เมื่อมาปรึกษาที่คลินิกว่า ต้องการผ่าตัดมดลูก รังไข่ ใช้ฮอร์โมน ซึ่งการใช้ฮอร์โมน ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากอาจมีภาวะแทรกซ้อน อาจไม่ปลอดภัย เช่น สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีไขมันในเลือด การใช้ฮอร์โมนอาจทำให้เส้นเลือดดำอุดตัน เพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดสมอง
ฉะนั้นกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังการใช้ฮอร์โมนพอสมควร แต่ก็สามารถทำได้ เนื่องจากมีการดูแลและรักษาในสตรีวัยหมดระดูมาแล้ว 30-40 ปี กลุ่มนี้จึงมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งอายุที่พบมากที่สุดที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ คือใกล้ ๆ 50 ปี ซึ่งแต่ละเพศแต่ละวัยมีการดูแลที่แตกต่างกัน
ใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่วยให้ข้อมูล
ปัจจุบัน มีผู้ที่ต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนหรือข้ามเพศ จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น เฟซบุ๊ก “คลินิกสุขภาพเพศ” จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่จะช่วยตอบคำถาม กับผู้ที่มีข้อสงสัย โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คอยตอบทุกคำถาม นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่นการให้ฮอร์โมน การผ่าตัด การปรึกษาดูแลแม้กระทั้งเรื่องของกฎหมาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ" พบในอดีตอายุสั้น-ป่วยโรคซึมเศร้าสูง
เตือน “ชาย-หญิงข้ามเพศ” อย่าเสี่ยงใช้ฮอร์โมนเอง แนะปรึกษาแพทย์เฉพาะด้าน
"คลินิกสุขภาพเพศ" บอกได้ ข้ามเพศให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ฉีดฮอร์โมน
"แปลงเพศ" เปลี่ยนกายให้ตรงใจ แต่ใช่ว่าจะถึงฝันในทุกคน