"แลนด์บริดจ์ชุมพร - ระนอง" และ "คลองไทย" เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกันคือเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า พร้อมชิงความได้เปรียบเส้นทางเดินเรือ "คลองไทย" เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เสนอให้ศึกษาและก่อสร้างมาหลายครั้ง มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากหลายฝ่าย
เส้นทาง คลองไทย จะผ่าน จ.สงขลา จ.พัทลุง จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ ระยะทาง 135 กม.ความกว้าง 300 - 400 ม. ความลึก 25 - 35 ม. คาดว่า จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้ 1,200 – 3,500 กม.
การศึกษายังเสนอให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลองไทยขึ้นบริเวณปากคลองไทย รวมงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท นำมาสู่การถกเถียงเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ยืนยันว่า คลองไทย จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นแน่นอน
หากเปรียบเทียบโครงการแลนด์บริดจ์ และ คลองไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความสนใจกับแลนด์บริดจ์มากกว่า เพราะจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ด้วยระบบขนถ่ายสินค้าออโตเมชัน โดยสร้างรถไฟทางคู่และมีมอเตอร์เวย์เชื่อมทั้ง 2 ฝั่ง ประหยัดเวลาการขนส่งได้อย่างน้อย 2-3 วัน
ด้าน ผศ.พิสิษฐ์ เพ่งอัมพร นักวิชาการอิสระด้านโลจิสติกส์ จ.ชุมพร ที่ติดตามการก่อสร้างในภาคใต้มานาน กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เพราะเห็นโอกาสทางการค้า การขนส่ง ขณะที่การขุดคลองไทยต้องใช้เงินลงทุนมากและใช้เวลานาน
สำหรับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่คาดว่าจะสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ และ คลองไทย นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่า แตกต่างกัน เช่น ชุมพร มีระดับน้ำทะเลที่ลึก การเคลื่อนตัวของทรายก็น้อยกว่า แถบ จ.นครศรีธรรมราช หรือ จ.สงขลา ซึ่งจะมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า
นายศักดิ์อนันต์ ระบุว่า โครงการคลองไทย จะทำลายระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ เช่น ชายฝั่ง จ.ตรัง ที่มีความสมบูรณ์มาก ทั้งแนวป่าชายเลน และมีแนวหญ้าทะเล ขณะที่ แลนด์บริดจ์ ยังมีโอกาสเกิดขึ้รและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศน้อยกว่า