วันนี้ (16 ธ.ค.2564) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มีมติแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯ ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่าย กรณีการระบาดของ COVID-19 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ดังนี้
กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือจาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และจาก 70 เท่า เป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป
ส่วนกรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ 60 เท่าเป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ สามารถยื่นเรื่องได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 – 28 ก.พ.2565
ก่อนหน้านี้ ราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.2564 อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อดีตคนงานไทรอัมพ์ร้องค่าชดเชย หลังถูก รง.ลอยแพ