วันนี้ (8 ธ.ค.2564) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การเปิดเผยดังกล่าวเป็นผลมาจากการทดสอบในจานเพาะเชื้อ โดยใช้ตัวอย่างจากอาสาสมัคร 12 คน ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ครบแล้ว โดยพบว่า เชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง และในบางการทดสอบ อาจลดระดับภูมิคุ้มกันลงสูงถึง 41 เท่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม
ขณะที่นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในเมืองเดอร์บันของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ยังถือว่าดีกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนยังไม่สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ทั้งหมด
ส่วนผลการทดสอบในอาสาสมัคร 6 คน ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 มาก่อนที่จะได้รับวัคซีนครบ 2 โดส พบว่า มีภูมิต้านทานที่สามารถรับมือกับสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์นี้
ผลการวิจัยในครั้งนี้ถือเป็นผลการทดสอบแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนกับสายพันธุ์โอมิครอนโดยตรง ซึ่งคณะนักวิจัยชุดนี้ ระบุว่า ยังคงเป็นเพียงแค่การทดสอบในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากใช้ตัวอย่างเพียงแค่ 12 ตัวอย่าง และยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ
โอมิครอนหนีภูมิจากไฟเซอร์ได้ 41.4 เท่า
สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ซึ่งได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ผลการทดสอบไวรัสโอมิครอนตัวจริงกับซีรัมของผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม ทดสอบโดยทีมวิจัยจากแอฟริกาใต้ออกมาแล้ว
เป็นไปตามคาด โอมิครอนหนีภูมิจากไฟเซอร์ได้ 41.4 เท่า หรือ มากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์หนีภูมิเก่งอย่างเบต้าที่รู้จักกัน (ภูมิโดยเฉลี่ยจาก 1300+ ลดลงเหลือ 32...)
ทีมวิจัยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างเดียวกับผู้เคยติดเชื้อและได้รับวัคซีนด้วย ภูมิแบบ hybrid immunity แบบหลังจะสูงกว่าชัดเจนและมีมากเพียงพอที่จะยับยั้งการติดเชื้อโอมิครอนได้แม้จะตกมากเช่นเดียวกัน
ค่านี้เป็น Neutralizing Antibody ไม่ใช่ค่า Binding IgG เป็น AU/ml หรือ BAU/ml ซึ่งตัวเลขนั้นเอามาใช้อ้างอิงไม่ได้ และ ตัวอย่างที่วัด n ยังค่อนข้างน้อยคือ n=6 เนื่องจากความเร่งด่วนของข้อมูล ต่อจากนี้ผลจะออกมาเรื่อย ๆ แน่นอน