วันนี้ (3 ธ.ค.2564) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูล 7 ข้อต้องรู้ความรุนแรงของสายพันธุ์ Omicron B.1.1.529 ดังนี้
- อาการ เบื้องต้นไม่พบความแตกต่าง บางรายงานระบุว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไม่สูญเสียการรับกลิ่น/รส อาการไม่รุนแรง
- การแพร่ระบาด คาดว่าจะเพิ่มขึ้น แทนที่สายพันธุ์ เดลตา ใน South Africa แพร่ได้อย่างรวดเร็ว
- Reproductive number คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า Wild type ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน
- ความรุนแรง ยังไม่มีข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า "วัคซีนยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้"
- ระยะฟักตัว ยังไม่มีข้อมูล
- ผลต่อภูมิคุ้มกัน อาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้อย่างมีนัยสำคัญ พบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สูงขึ้น
- Vaccine effectiveness : ยังไม่มีข้อมูล
อ่านข่าวเพิ่ม "หมอยง" เฉลย 10 ข้อต้องรู้จักไวรัสกลายพันธุ์ "โอมิครอน"
"หมอยง" แนะเตรียมพร้อมรับมือโอมิครอน
ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Yong Poovorawa ว่า โควิด 19 โอมิครอนการเตรียมพร้อมรับมือ โดยระบุว่า "โอมิครอน" ถ้าการระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา โอมิครอน จะเข้ามาแทนที่เดลต้าที่ระบาดไปทั่วโลก
เดิมสายพันธุ์ที่ระบาดจากอู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ S และ L ประเทศไทยระบาดรอบแรก เป็นสายพันธุ์ S
สายพันธุ์ L มีลูกมากกว่า แพร่กระจายได้เร็ว ไประบาดหนักที่ยุโรป ทำให้สายพันธุ์ S หายไป
ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ระบาดได้เร็วกว่า จึงเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ L
หลังจากนั้นสายพันธุ์อังกฤษหรืออัลฟา ระบาดได้เร็วมาก ก็เข้ามาเบียดสายพันธุ์ G ดังเห็นได้จากสายพันธุ์ G ระบาดในประเทศไทยระบาดที่สมุทรสาคร ในรอบ 2 ต่อมาสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอีก ก็ระบาดมาก และแทนที่สายพันธุ์ G
สายพันธุ์อัลฟา ระบาดสู้สายพันธุ์เดลต้าไม่ได้ เดลตาเริ่มจากอินเดีย เข้ามาไทยโดยคนงานก่อสร้าง และก็ระบาดไปทั่วประเทศไทย ขณะนี้สายพันธุ์เดลตาระบาดทั่วโลก เพราะแพร่กระจายได้ง่าย มีการระบาดเป็นระยะเวลายาวนานกว่าสายพันธุ์อื่น
สายพันธุ์โอมิครอน เริ่มจากแอฟริกาตอนใต้ มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดได้เร็ว ก็อาจจะมายึดพื้นที่สายพันธุ์เดลตาได้ โดยเฉพาะอาจทำให้ระบาดทั่วโลกได้ ตามกฎเกณฑ์ทางวิทยา ศาสตร์ โดยทั่วไปการแพร่กระจายสายพันธุ์ต่างๆในอดีต มาสู่ไทยมาได้โดยบินมา เดินมา หรือว่ายน้ำมา
3 สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือก่อนมาไทย
บทเรียนในอดีต สายพันธุ์ต่างๆที่บินมา ก็จะถูกกักกันไว้ได้หมด สายพันธุ์ที่เข้าสู่ประเทศไทยแต่ละครั้งมักจะ “เดิน” มา เพราะเรามีพรมแดนธรรมชาติอันยาวไกล การป้องกันที่สำคัญจะอยู่ที่การเดินมา มากกว่าที่บินมา ถ้ามีการแพร่กระจายของสายพันธุ์ โอมิครอน ได้เร็วก็จะมีโอกาสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และในที่สุดประเทศไทยก็จะหนีไม่พ้นอย่างในอดีต เพียงแต่ยืดเวลาให้ช้าที่สุด เพื่อความเตรียมพร้อม หรือมีองค์ความรู้เกิดขึ้น พร้อมที่จะดูแล รักษาป้องกัน
การเตรียมพร้อมรับมือสำหรับ โอมิครอน ไว้ก่อนล่วงหน้าสามารถทำได้โดย
การให้วัคซีน ในปัจจุบันต้องครอบคลุมให้ได้สูงสุด หรือเกือบทั้งหมดของประชากรที่ควรจะได้รับวัคซีน
วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน ถึงแม้ประสิทธิภาพ ต่อโอมิครอนจะลดลงบ้าง แต่ก็สามารถป้องกันความรุนแรง การเข้านอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ (จากข้อมูลของแอฟริกาใต้ ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 90% ไม่ได้ฉีดวัคซีน) วัคซีนในประเทศไทยขณะนี้มีเป็นจำนวนมากเพียงพอ ที่จะให้ได้กับคนทุกคน และเตรียมพร้อมที่จะกระตุ้นในเข็มที่ 3
การวินิจฉัยสายพันธุ์โอมิครอน ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ถ้าโอมิครอน หลุดรอดเข้ามา ก็ต้องวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็ว และมีทีมที่พร้อมจะเข้าไปควบคุมดูแล ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น
การป้องกัน การแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ด้วยมาตรฐานวิถีชีวิตใหม่ ยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด ด้วยการล้างมือ ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย และกำหนดระยะห่าง เพื่อให้มีจำนวนผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
การเตรียมพร้อม ต้องให้ทุกคนเข้าใจ ใช้ความรู้มากกว่าความเชื่อ สร้างความรู้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีความโปร่งใส และทุกคนจะต้องเคร่งครัดรักษาระเบียบวินัย จะช่วยลดการระบาดของโรคได้อย่างแน่นอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ยันไทยไม่ปิดประเทศ-สธ.เปิดพิกัดโอมิครอนพบแล้ว 30 พื้นที่
"ญี่ปุ่น" ยกเลิกคำสั่งห้ามจองตั๋วเครื่องบินเข้าประเทศ