ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หลากหลายความทรงจำ ก่อนถึงวันปิด "หัวลำโพง"

สังคม
20 พ.ย. 64
11:49
2,793
Logo Thai PBS
หลากหลายความทรงจำ ก่อนถึงวันปิด "หัวลำโพง"
ผู้คนหลากหลายเดินทางเก็บภาพความทรงจำ ก่อนวันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงปิดให้บริการ และย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ

บรรยากาศช่วงสายในวันปกติที่สถานีรถไฟหัวลำโพงยังคงคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาใช้บริการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ

พนักงานคอยโบกธงให้สัญญาณรถไฟที่จะเข้า-ออกสถานี พนักงานส่งสินค้าที่ขนของขึ้นลงขบวนรถไฟต่าง ๆ และผู้คนที่เร่งรีบเพื่อให้ทันกับขบวนรถไฟที่จะออกจากชานชาลาต่าง ๆ หรือเสียงของวินมอเตอร์ไซค์ รถสามล้อและแท็กซี่ที่คอยเรียกลูกค้าเพื่อเดินทางต่อไปยังย่านใกล้เคียง

 

ภาพเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาพชินตา เมื่อใครก็ตาม ที่จะเดินทางมายังสถานีหัวรถไฟหัวลำโพง แม้ว่าผู้คนจะลดน้อยลงไปบาง แต่ในวันนี้ก็ยังพบผู้คนจำนวนมากที่ไม่เพียงเดินทางมายังหัวลำโพงตามปกติ แต่หากมาเก็บภาพความทรงจำที่ผูกพันกับหัวลำโพง หลังทราบข่าวว่า "สถานีรถไฟหัวลำโพง" หรือ ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สถานีรถไฟกรุงเทพฯ" ที่กำลังปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับผู้คนที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ หลังมีกระแสข่าวการปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพงที่เปิดให้บริการมานานกว่า 100 ปี ผู้คนหลากหลายที่ล้วนมีประสบการณ์ร่วมในพื้นที่แห่งนี้ได้เข้ามาเก็บภาพความทรงจำของตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งมาคนเดียวหรือมาเป็นหมู่คณะ

 


“สุรินทร์-กรุงเทพฯ” เดินทางเข้า กทม.ตั้งแต่ยุครถไฟไอน้ำ

ตั้งใจมาเก็บภาพที่สถานีรถไฟหัวลำโพงโดยเฉพาะ โดยมาจาก จ.สุรินทร์ บอกสามีไว้เลยว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากมาเก็บภาพที่นี่

นุศรา กำลังงาน เล่าให้ฟังว่า ตั้งใจเดินทางมายังสถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากตนเองเคยเดินทางด้วยรถไฟ และเดินทางไปเที่ยวด้วยรถไฟขบวนพิเศษเช่น เดินทางไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

รวมถึงเมื่อครั้งที่อยู่กรุงเทพฯ ก็เดินทางไปทำงานโดยผ่านเส้นทางนี้ประจำเนื่องจากอาศัยอยู่ย่านวรจักร ซึ่งเมื่อทราบข่าวจากสื่อว่า สถานีรถไฟหัวลำโพงกำลังจะปิดให้บริการ ก็รู้สึกเสียดาย และอยากให้มีการอนุรักษ์ไว้เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย แต่ส่วนดีของการย้ายไปสถานีกลางบางซื่อ คือ ประเทศพัฒนาขึ้น

วันนี้ตั้งใจมา เพื่อเก็บภาพที่ระลึกไว้ คิดว่าภาพเก่ามันจะ ค่อย ๆ เลือนลางไปเรื่อย ๆ สมัยลูกหลานเราคงไมได้เห็นหัวลำโพงแบบนี้ เพราะตั้งแต่จำความได้เราเห็นมาตั้งแต่เกิด ได้ยินมาตั้งแต่เกิดและเคยใช้บริการ 


ด้านนายซุย กำลังงาน อดีตอาจารย์ประจำมหาวิยาลัยราชมงคลวิทยาเขตสุรินทร์ เล่าว่า ตนเองนั้นเดินทางโดยรถไฟมา โดยได้ใช้บริการตั้งแต่แต่ยุครถจักรไอน้ำในช่วงปี 2509 เมื่อตอนเข้ามากรุงเทพฯครั้งแรก ก็ยังจำภาพนั้นได้ ขึ้น-ล่อง กรุงเทพฯ ไป-กลับ สุรินทร์ ก็ยังใช้รถไฟเป็นประจำ เนื่องจากสมัยนั้นรถยนต์ยังไม่มีมากจึงรู้สึกผูกพันกับการเดินทางโดยรถไฟ

 

 

เสน่ห์รถไฟ “คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย”

สุนิศา บัวรัตน์ อาชีพพนักงานย่านหัวลำโพง กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวก็รถไฟจะหยุดให้บริการที่สถานหัวลำโพงก็ใจหาย ตนเองเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี จึงได้ใช้บริการบ่อยครั้ง คือ การเดินทางมาทำงาน โดยเดินทางจากบ้านย่านบางเขนปลายทางที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ค่าโดยสารไม่แพง ซึ่งก็จะพบปะผู้นหลากหลายเช่น คนที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเดินทางมากรุงเทพฯ หรือ คนที่อยู่ย่านรังสิต ก็ได้พบปะพูดคุยกัน


รวมถึง ใช้บริการรถไฟตู้นอนในการเดินทางกลับบ้าน ที่ จ.อุบลราชธานี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ ซึ่งมีความปลอดภัยและรถไม่ติด รวมถึงใช้บริการขบวนพิเศษไปเที่ยว จ.พระนครศรีอยุธยา

ที่ประทับใจรถไฟก็คือผู้คน ครั้งแรกที่ขึ้นรถไฟนั้นเป็นรถไฟชั้น 3 ก็จะเจอคนแปลกหน้า ได้พูดคุยกันระหว่างเดินทาง เพราะการเดินทางใช้เวลานาน ได้พูดคุยกับคนอื่น ๆ ฟังประสบการณ์ของผู้คนที่มาจากที่ต่าง ๆ จนกว่าจะไปถึงปลายทาง

นอกจากนี้ ระหว่างการจอดที่สถานีต่าง ๆ ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าที่นำน้ำและอาหารมาขาย ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการเดินทางประเภทอื่น ๆ ทั้ง รถทัวร์และเครื่องบิน ซึ่งวันนี้ที่มาถ่ายภาพก็ตั้งใจมาเก็บเป็นความทรงจำ

เดินทางไกลครั้งหนึ่งก่อนปิด “หัวลำโพง”

เดินทางมาไม่บ่อยนัก ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มายังหัวลำโพง ก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะเดินทางจาก จ.ยะลา มาถึงที่นี่ระยะทางเกือบ 1,000 กม. รู้สึกว่า เรามาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ที่นี่จะปิดตำนาน และเราก็มาถ่ายรูปสักครั้งนึงเพื่อเป็นตำนานของกลุ่มพวกเราด้วย 

ด้านไซฟูดดีน หะนีอับดุลเราะห์มาน และเพื่อน ๆ รวมกว่า 10 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขาเล่าว่า เดินทางมาจาก จ.ยะลา จนถึงกรุงเทพฯ เป็นระยะทางกว่า 1,000 กม.รวมเวลาประมาณ 24 ชม.โดยเขาและเพื่อนวางแผนไว้ว่ามีเป้าหมายที่จะเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ใกล้เคียง

 

ประกอบกับเมื่อทราบข่าวว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงที่กำลังจะปิดให้บริการ แม้ว่าจะไม่ได้เดินทางมาบ่อยหนัก แต่ก็ถือเป็นความทรงจำของตนเองและกลุ่มเพื่อนที่ดีที่ได้เดินทางยังสถานีหัวลำโพงก่อนที่จะมีการปิดใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงในอนาคต

การเดินทางเป็นหมู่คณะเราได้เจออะไรใหม่ ๆ ผ่านอุปสรรคอะไรต่าง ๆ ด้วยกัน และได้รู้จักเพื่อนใหม่ด้วย 2 - 3 คน และได้ร่วมทางมาเที่ยวด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นการเดินทางมาด้วยกันครั้งแรก ในการมาขึ้นดอยมา ดูทะเลหมอก และจะมีครั้งต่อไปแน่นอน 

สะดวก ราคาถูก คุ้นเคยสถานที่

ด้านเดชา เดชทอง ชายสูงวัยจาก จ.ฉะเชิงเทรา ที่วันนี้ เดินทางโดยรถไฟมาจาก จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกับภรรยา เล่าว่า การเดินทางมากรุงเทพฯส่วนใหญ่จะเป็นการมาท่องเที่ยวย่านสนามหลวง เยาวราช ซื้อของแถวสำเพ็ง พาหุรัด เนื่องจากบ้านที่ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ สามารถจอดรถยนต์ไว้ที่สถานีรถไฟและขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และใช้เวลาไม่นานนักโดยอยู่ที่ประมาณ 1 ชม.ครึ่ง และหากขับรถยนต์มาเองก็จะมีปัญหาที่จอดรถที่หายาก

 


รวมถึงตนเองรู้จักร้านค้า และสถานที่ต่าง ๆ ในย่านนี้ค่อนข้างดีจึงรู้สึกทำให้คุ้นเคยและสามารถเดินเลือกซื้ออาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ ได้ ซึ่งเมื่อทราบข่าวว่าจะปิดสถานีหัวลำโพงรู้สึกใจหายอยู่เหมือนกัน ซึ่งหากต้องย้ายการเดินรถไฟยังสถานีรถไฟบางซื่อ ก็อาจจะไม่คุ้นเคยเท่ากับหัวลำโพง


รำลึก “หัวลำโพง” หน้าประวัติศาสตร์ไทย

 

สุรีย์ มิ่งภัคนีย์ อดีตพนักงาน บริษัทเอกชน กล่าวว่า ทราบข่าวว่า สถานีรถไฟหัวลำโพงกำลังจะปิดมานานแล้ว ก็รู้สึกคิดถึง และอยากมาชมบรรยากาศเก่า ๆ ของหัวลำโพง แต่ก็ทราบว่า อนาคตจะยังมีการเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ถือว่าดีเพราะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในการเดินทางขนส่งของไทย

เคยใช้บริการด้วยรถไฟก็ประทับใจ สนุกสนานเพื่อนร่วมทางเยอะ ตอนเรียนก็ใช้ไปเที่ยว ตอนทำงานแล้วมีครอบครัว ก็พาลูกเที่ยว วันนี้มาอำลาหัวลำโพง โบกมือบ๊ายบาย วันหน้าเราจะไม่ได้มาที่นี่แล้ว

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง