กว่า 10 ปีที่นางทิพประกาฬ คนคล่อง ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต. แห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ต้องสู้คดีกับอดีตนายจ้างของตัวเอง หลังร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ว่า อดีตผู้บริหาร อบต. เรียกรับเงินกว่า 50,000 บาท แลกกับการต่อสัญญาพนักงานจ้างตามภารกิจ
เดือนกันยายน 2554 สัญญาการเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจของอบต. ของนางทิพประกาฬกำลังจะสิ้นสุด เธอได้รับแจ้งจากเพื่อนร่วมงานว่า หากต้องการต่อสัญญาต้องจ่ายเงินให้ นายก อบต. 50,000 บาท ด้วยความที่ครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายสูงเพราะพ่อป่วย และตัวเองกำลังตั้งครรภ์ นางทิพประกาฬตัดสินใจขายบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จเพื่อนำเงินมาจ่ายให้ นายก อบต. แลกกับการต่อสัญญา แต่เงินที่ได้จากการขายบ้านก็ยังไม่เพียงพอ
เราก็เลยเข้าไปพบเขา ไปกราบเท้าแล้วบอกว่าขอลดได้ไหมเพราะลำบากจริง ๆ เขาตอบกลับมาว่าถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ไม่เป็นไร คนที่เขาพร้อมจะจ่าย คนที่เขาอยากทำงานแทนคุณมีอีกเยอะ
สถานการณ์บีบคั้นทำให้นางทิพประกาฬตัดสินใจร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ ป.ป.ช.มุกดาหาร โดยใช้คลิปเสียงที่บันทึกเหตุการณ์ขณะกลุ่มผู้บริหารเรียกรับเงินเป็นหลักฐานในการร้องเรียน
ป.ป.ช.ใช้เวลาสอบสวน 7 ปี ก่อนมีมติว่า ข้อกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญา จากนั้นในปี 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาให้จำเลย ประกอบด้วย นายก อบต.และ รองนายก อบต. อีก 2 คน มีโทษจำคุก สูงสุด 7 ปี 6 เดือน ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญา
ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2564 มีคดีทุจริตในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลและศาลพิพากษาแล้ว ทั้งหมด 93 คดี ในจำนวนนี้มี 19 คดี หรือประมาณ 1 ใน 5 เกี่ยวข้องกับการจัดจ้างบุคลากรเข้าทำงานใน อบต.
อำนาจสูง-ไร้ถ่วงดุล เปิดช่องเรียกผลประโยชน์
การรับสมัครพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไปของ อบต. ต้องผ่านขั้นตอนการสอบคัดเลือก เมื่อผ่านแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรซึ่ง นายก อบต.เป็นผู้แต่งตั้ง
การที่ นายก อบต.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ทำให้สามารถกำหนดได้ว่าจะรับใครเข้าทำงาน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง เพื่อนฝูง เครือญาติไปจนถึงหัวคะแนนที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งจนชนะ
ส่วนขั้นตอนการต่อสัญญา พนักงานจ้างตามภารกิจต้องต่อสัญญาทุก 4 ปี พนักงานจ้างทั่วไปต้องต่อทุกปี หัวหน้าส่วนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปีละ 2 ครั้ง แต่ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาว่าเห็นควรให้ต่อสัญญาหรือไม่ คือ นายก อบต.
นายกลยุทธ์ แสงชาติ ปลัด อบต.นาขมิ้น อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม บอกว่า หลายครั้งที่ พนักงานจ้างที่นายก อบต.คนเก่าเป็นผู้รับเข้ามาจะไม่ได้รับการต่อสัญญาหลังมีการเปลี่ยนนายก อบต.
พอเปลี่ยนนายกอบต.คนเหล่านี้จะไม่ได้รับการต่อสัญญา เพื่อเปิดทางให้เครือญาติหรือหัวคะแนนของนายก อบต.คนใหม่เข้ามาทำแทน บางแห่งพนักงานถึงขั้นฟ้องร้อง นายกอบต.ก็มี
หลายฝ่าย มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เส้นสายในการรับสมัครพนักงาน ก็คือ การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงาน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในองค์กรที่ต้องให้บริการประชาชนอย่างเช่น อบต. ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้