อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีรายงานว่ายังมีโอกาสพบเห็นผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง และ ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก ผีเสื้อในวงศ์หางยาว 2 ชนิด ในซากผีเสื้อของกลาง 6 ชนิดพันธุ์ ที่เจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยึดจากผู้ต้องหาค้าซากผีเสื้อสตัฟท์ออนไลน์เมื่อกลางเดือนกันยายน 2564
ทั้งคู่เป็นผีเสื้อกลางคืน หรือ มอธ อยู่ในกลุ่มแมลงคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 สถานภาพหายากใกล้สูญพันธุ์ ห้ามซื้อขายและมีไว้ในครอบครอง
เนื้อที่กว่า 800 ตร.กม. ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 150 - 800 ม. ทำให้อุทยานแห่งชาติปางสีดา เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่นี่กลายเป็นแหล่งรวมของผีเสื้อหลายร้อยชนิดพันธุ์
เดือนเมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่จะได้เห็นผีเสื้อจำนวนมากบริเวณโป่งเทียม ไม่ไกลจากน้ำตกปางสีดา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จึงเริ่มมีผีเสื้อให้เห็นทั่วพื้นที่อุทยานฯ
นายแก้ว คอนคำ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นผู้ถ่ายภาพผีเสื้อแสดหางยาว ซึ่งเป็นหนึ่งในผีเสื้อวงศ์หางยาว ชนิดพันธุ์แมลงคุ้มครอง ได้บริเวณลำธาร ในอุทยานแห่งชาติปางสีดา
ส่วนผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางวัน วงศ์ขาหน้าพู่ สัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นอีกชนิดพันธุ์หนึ่งที่ทีมงานมีโอกาสได้พบระหว่างลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ...เจ้าหน้าที่ บอกว่า โอกาสที่จะได้เห็นผีเสื้อชนิดนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีผีเสื้อคุ้มครอง 5 ชนิด ใน 16 ชนิดพันธุ์แมลงคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และอยู่ในสถานะบัญชีที่ 2 ของไซเตส
นายแก้ว บอกว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เคยโพสต์รูปผีเสื้อใต้ฉาบหยก ที่ถ่ายได้บริเวณลำธาร กม. 20 แต่หลังจากภาพถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์เพียง 3 วัน การข่าวของเจ้าหน้าที่พบว่า มีกลุ่มคนล่าผีเสื้อเข้ามาในพื้นที่พร้อมอุปกรณ์การจับ เพราะผีเสื้อใต้ฉาบหยก นับเป็นชนิดพันธุ์หายาก แนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
หลังจากที่ผมโพสต์ผีเสื้อชนิดหายากที่พิกัดปางสีดา ไม่กี่วันก็มีทะเบียนรถที่ต้องเฝ้าระวังเข้ามา อุปกรณ์ก็ไม่มีอะไรนะเหมือนกับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่พอพ้นตาเจ้าหน้าที่เขาจะแยกตัวออกไป
เพราะชื่นชอบผีเสื้อ ทำให้นายแก้ว คอนคำ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ศึกษาหาความรู้จากนักวิจัยและนักอนุรักษ์ที่เข้ามาเก็บข้อมูลเรื่องผีเสื้ออยู่เสมอ
ปีที่แล้ว เขาพบผีเสื้อที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงส่งภาพถ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผีเสื้อ ขณะนี้ มีการเสนอชื่อให้ผีเสื้อตัวนี้ว่า “หางคู่บูรพา” อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสินธุยศ จันทรสาขา นักอนุรักษ์ผีเสื้อ เป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นภาพถ่ายผีเสื้อของนายแก้ว
เขาถ่ายรูปผีเสื้อ แล้วส่งมาให้ผมดู เพราะเขาไม่แน่ใจว่าคือผีเสื้อตัวใหม่หรือไม่ ผมเห็นแล้วก็ต้องบอกว่า มันคือผีเสื้อชนิดใหม่ มันมี marking ที่ต่างกัน
น.สพ.เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน ผีเสื้อบางชนิดในประเทศไทยเหลือแค่หลักหน่วย ไม่ถึง 10 ตัว
ทรัพยากรที่ทุ่มเทเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าจำพวกผีเสื้อแทบไม่มี สิ่งที่ผีเสื้อต้องการจริงๆ ก็คือ การปกป้องแหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อมให้คงเดิม เพื่อที่ผีเสื้อจะมีชีวิตอยู่ได้ ง่ายๆ แค่นั้น