เกือบ 40 ปีที่นายธวัชชัย เจริญรัตน์ ชาวบ้านบ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อดีตนักจับและค้าผีเสื้อสมิงเชียงดาว หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ผีเสื้อภูฐาน เก็บซากผีเสื้อสมิงเชียงดาวสตัฟฟ์ที่จับเองกับมือไว้อย่างดี
เมื่อ 4 ปีก่อน เคยมีคนขอซื้อซากผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่เก็บไว้ในราคา 400,000 บาท แต่เขายังไม่มีความคิดที่จะขาย
แบงค์ร้อยบินได้ คือฉายาของ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว นายธวัชชัย เล่าว่า เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านถ้ำ ที่อยู่ติดกับดอยหลวงเชียงดาว จะมุ่งหน้าขึ้นยอดดอย เป้าหมายเพื่อจับผีเสื้อสมิงเชียงดาว ส่งขายให้นักสะสมชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางเข้ามารับซื้อถึงพื้นที่ ในราคาซากละ 500 บาท ราคามากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับสภาพความสมบูรณ์ของซากผีเสื้อโดยเฉพาะส่วนปีก
ขึ้นดอยแต่ละครั้งไปหลายวัน รอบหนึ่งจับผีเสื้อได้ 3-4 ตัว ลงมาก็ได้เงินหลักพันแล้ว สมัยก่อน ถ้าผมมีเงินก็จะรับซื้อจากชาวบ้านสะสมหลายๆ ซาก ชาวญี่ปุ่นเขารับซื้อไม่อั้น
นายธวัชชัย บอกว่า มีซากผีเสื้อสมิงเชียงดาวนับไม่ถ้วนที่ผ่านมือขายต่อให้นักสะสมทั้งชาวไทยและต่างชาติ ระยะหลังจึงเรียนรู้การสตัฟฟ์ผีเสื้อจากลูกค้าชาวญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มมูลค่า ใส่กรอบวางขายนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ เขาจำได้ว่า หลายปีก่อนเคยขายซากผีเสื้อสมิงเชียงดาวใส่กรอบในราคา 50,000 บาท
ตั้งแต่ปี 2534 หลังจาก ไม่มีรายงานการพบผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่ดอยหลวงเชียงดาวอีกต่อไป อาชีพจับและค้าผีเสื้อของนายธวัชชัยก็ยุติตามไปด้วย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งดูผีเสื้อที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย ปัจจุบันแม้ผีเสื้อสมิงเชียงดาวสูญพันธุ์ แต่ที่นี่มีข้อมูลการพบผีเสื้อชนิดพันธุ์ใหม่ๆ และ มีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจาก การปิดให้บริการพื้นที่ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
นายบุญมา คำก้อน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหนึ่งในชาวบ้านบ้านถ้ำ ที่เคยเดินป่าขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว เพื่อจับผีเสื้อสมิงเชียงดาว ก่อนผันตัวมาทำงานอนุรักษ์
500 บาทต่อตัว นี่เงินเยอะมากนะในยุคนั้น ชาวบ้านเห็นช่องทางมีรายได้ก็ขึ้นดอยไปหากัน ผมไปหาที่เดิม ๆ แถวไร่ฝิ่น จะเห็นสมิงเชียงดาวบ่อย แต่ไม่รู้จริงๆว่ามันกินพืชอาหารอะไร ไม่มีใครเคยเห็นตัวหนอน
แมลงคุ้มครอง ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มี 20 ชนิดพันธุ์ แบ่งเป็น ผีเสื้อ 16 ชนิด และด้วง 4 ชนิด อยู่ในสถานภาพหายากใกล้สูญพันธุ์เกือบทั้งหมด บางชนิดสูญพันธุ์แล้ว เช่น ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ขณะที่ ผีเสื้อบางชนิด ไม่มีข้อมูลการพบเห็นมากกว่า 10 ปี หนึ่งในนั้นคือ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล หรือเรียกอีกชื่อว่า มรกตผ้าห่มปก ที่อยู่ในสถานภาพหายากเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อนาคตอาจไม่ต่างกับ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว
ผีเสื้อสมิงเชียงดาว หรือ ผีเสื้อภูฐาน
แมลงคุ้มครอง 1 ใน 20 ชนิด ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามล่า ค้า และ มีไว้ในครอบครอง แมลงคุ้มครองในบัญชีที่ 2 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ควบคุมการค้า นำเข้า-ส่งออก
มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เขตแพร่กระจาย ภูฏาน, สิกขิม, ภาคเหนือของอินเดีย ภาคเหนือของประเทศเมียนมาร์ จีน และยอดดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของไทย สถานภาพปัจจุบัน สูญพันธุ์