ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.เร่งสรุปเคส "เด็กหญิง 12 ปี" พบผลข้างเคียงหลังฉีดไฟเซอร์

สังคม
3 พ.ย. 64
10:31
1,254
Logo Thai PBS
สธ.เร่งสรุปเคส "เด็กหญิง 12 ปี" พบผลข้างเคียงหลังฉีดไฟเซอร์
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมสรุปเคสเด็กหญิงวัย 12 ปีจ.ราชบุรี หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 6 วันมีผลข้างเคียงรุนแรง แต่ยังขอให้ผู้ปกครองมั่นใจประสิทธิภาพวัคซีน ส่วนสถาบันสุขภาพเด็ก อาการผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

วันนี้ (3 พ.ย.2564) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีเด็กหญิงอายุ 12 ปีจากจ.ราชบุรี มีอาการป่วยหลังจากรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ พบมีอาการไอ เจ็บกลางหน้าอก ขณะนี้ สธ.กำลังรวบรวมข้อมูลการรักษาของเด็กนักเรียนหญิงที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้ 6 วันแล้วเกิดผลข้างเคียง

นพ.จักราช กล่าวว่า กรณีนี้ เชื่อว่าเป็นการแพ้อาการรุนแรงที่เกิดขึ้นจากวัคซีน เพราะเด็กไม่ได้มีโรคประจำตัวอื่นๆ มาก่อน แต่ก็ต้องประมวลผลการรักษา และนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการ ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ พิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนมาตัดสินด้วย เพราะถือเป็นรายแรก

ตอนนี้มีการฉีดวัคซีนนักเรียน 12-18 ปีไปแล้วกว่า 2 ล้านคนในไทย ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น พบได้น้อยมาก ยังขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นว่าประโยชน์ของวัคซีน มีมากกว่าผลข้างเคียงหลังจากรับวัคซีน

สถาบันสุขภาพเด็กชี้ไม่เกี่ยว "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"

ขณะที่เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ออกแถลงการณ์กรณีดังกลาวว่า สืบเนื่องจากผู้ป่วยเด็กหญิงไทย อายุ 12 ปี 3 เดือน ได้รับการส่งตัวจาก รพ.ราชบุรี เมื่อวันอังคารที่ 26 ต.ค.2564 ด้วยเรื่องไอ เจ็บกลางหน้าอก เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2564 จากนั้นวันต่อมามีอาการ ไอมากขึ้น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ตัวเขียว ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.ราชบุรี ในวันที่ 25 ต.ค.2564 ได้รับการรักษาโดยการให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ให้ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ

ต่อมาผู้ป่วยยังมี อาการหายใจเหนื่อย จึงใส่ท่อหายใจและส่งตัวผู้ป่วยมาตรวจรักษาต่อที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในวันอังคารที่ 26 ต.ค.2564

ประวัติอดีตที่สอบถามจากบิดา มารดา พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหลังโก่ง และคดสังเกตเห็นตั้งแต่อายุ 9 เดือนแต่ไม่เคยรักษาที่ใดมาก่อน และมีประวัติเหนื่อยง่ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ไม่เคยพบแพทย์มาก่อน

จากการตรวจร่างกายที่สถาบันฯ พบว่า เด็กตัวเล็กและเตี้ยกว่าเกณฑ์มาก มีหลังคดโก่งรุนแรงและมีนิ้วปุ้มซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะปอดขยายตัวไม่เต็มที่และมีพังผืดในปอดได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนับเป็นกลุ่มเสี่ยงในกลุ่มโรคทางเดินหายใจที่ควรได้รับวัคชีนโควิด-19

 จากการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงพบว่า การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี ไม่มีสิ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และพบการอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด จึงตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดและพบว่าถุงลมในปอดขยายได้ไม่เต็มที่ และบางบริเวณมีปอดแฟบ

ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (PICU) สถาบันฯ ระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค.2564 ได้รักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ดูแลทางเดินหายใจโดยขณะนี้สามารถถอดท่อทางเดินหายใจและเปลี่ยนมาให้ออกซิเจนความเข้มขันสูง ได้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค.2564 พบว่าก้อนลิ่มเลือดที่อุดตันมีขนาดเล็กลง เลือดไหลเวียนไปสู่ปอดได้ดีขึ้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี

เมื่ออาการดีขึ้น ได้ย้ายผู้ป่วยเข้าดูแลในหอผู้ป่วยเด็กเฉพาะโรคในวันที่ 1 พ.ย.2564 ผู้ป่วยหอบเหนื่อยลดลง สามารถรับประทานอาหารได้

ทีมกุมารแพทย์หลากหลายสาขาของสถาบันฯ ทั้งด้านโรคหัวใจ โรคปอด โลหิตวิทยา โรคภูมิคุ้มกันได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างเต็มที่ เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะริ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด

ขอแจ้งให้ทราบว่า อาการของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 

ทั้งนี้ทางทีมแพทย์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จะให้การดูแลรักษาเด็กต่อเนื่องต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง