วันนี้ (26 ต.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ COVID-19 ว่า ในระยะหลังไทยพบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การสุ่มตรวจสายพันธุ์พบเป็นเดลตา 1,069 คน สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 7 คน และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 9 คน
กรณี 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยพบว่า จ.ยะลา มีอัลฟาเป็นส่วนใหญ่ แต่ในขณะนั้นสุ่มตรวจตัวอย่างไม่ได้มากนัก ขณะที่ปัจจุบันสุ่มตรวจตัวอย่างเพิ่มขึ้น พบว่า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา
ขณะนี้การระบาดในทั่วทุกภูมิภาคของไทย ส่วนใหญ่เดลตาเป็นหลัก มีเบต้าเล็กน้อยในภาคใต้ ส่วนอัลฟามีสัดส่วนลดลงเรื่อย ๆ
นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า สายพันธุ์อัลฟา พลัส มีส่วนของสายพันธุ์เดิม และเติมการกลายพันธุ์บางอย่างขึ้นมา โดยมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หลบภูมิได้ และอาจทำให้อาการเพิ่มขึ้น โดยไทยตรวจพบสายพันธุ์อัลฟา พลัส ได้แก่ ผู้ต้องขัง จ.เชียงใหม่ 2 คน เก็บตัวอย่างในวันที่ 27 ก.ย.2564 อยู่ระหว่างสอบสวนโรค, จ.จันทบุรี และตราด ตรวจพบ 16 คน เป็นแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา 12 คน และคนไทย 4 คน ทั้งหมดทำงานในล้งลำไย เก็บตัวอย่างวันที่ 9-10 ก.ย.2564
ข้อมูลจาก GISAID พบว่าอัลฟา พลัส กำลังระบาดจำนวนมากในกัมพูชา ซึ่งการกลายพันธุ์ชนิด E484K บน Spike พบได้ในสายพันธุ์ เบตา และแกรมมา ที่มีปัญหาเรื่องการหลบภูมิ อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์อัลฟาในไทยลดลง และเป็นการระบาดสายพันธุ์เดลตาแทน ทำให้การแพร่กระจายไม่สูง แต่จะเฝ้าระวังและสุ่มตรวจเพิ่มขึ้น
อัลฟา พลัส ไม่ใช่เชื้อใหม่ เจอที่อังกฤษตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์เดลตา ขณะนี้มี AY.1 ถึง AY.47 โดยไทยพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตา 18 สายพันธุ์ และการสุ่มตรวจพบมากที่สุด คือ AY.30 จำนวน 1,341 คน ขณะที่เดลตา พลัส (AY.4.2) ที่ระบาดในประเทศอังกฤษ และกังวลว่ามีการแพร่กระจายเร็วกว่าเดลตา 10-15% นั้น ขณะนี้ยังไม่พบในไทย
ทั้งนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารได้ประสานงานมายังกระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบสายพันธุ์เดลตา พลัส (AY.1) เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยตรวจตัวอย่างที่ จ.กำแพงเพชร ในผู้ป่วยชาย 1 คน ที่เดินทางจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งการกลายพันธุ์ที่ K417N ยังไม่มีข้อมูลว่าจะทำให้หลบภูมิมากขึ้น แตกต่างจาก AY.4.2 และยังไม่ถูกขึ้นบัญชีที่น่าจะมีปัญหา
ผู้ป่วยรายนี้เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนามและหายเป็นปกติดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ต้องเก็บตัวอย่างคนที่มีความเสี่ยง หรือสัมผัสมาตรวจเพิ่มเติม
นพ.ศุภกิจ สรุปข้อมูลว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา พลัส จำนวน 18 คน และเดลตา พลัส AY.1 จำนวน 1 คน อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 450 ตัวอย่าง และส่งข้อมูลไปที่ GISAID
ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบคนไทยคนแรกจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ติดเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา พลัส ว่า ที่ผ่านมา สธ.โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ติดตามและตรวจสอบการติดเชื้อ COVID-19 ในไทยมาตั้งแต่ต้น ทำให้มีข้อมูลที่รวดเร็วและเปิดเผย
การพบสายพันธุ์ใหม่ ทาง สธ. เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ไม่มีการปกปิดข้อมูล และขอย้ำว่าอย่าตื่นตระหนก ให้ติดตามข้อมูลจาก สธ.เพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกตามช่วงเวลา
นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับเชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์ เป็นเรื่องปกติ โดยหลักการหากมีการกลายพันธุ์ ที่มีนัยสำคัญจะทำให้มีอาการโรครุนแรงขึ้น หรือติดต่อกันง่ายขึ้น ลักษณะเดียวกับเชื้อเคยกลายพันธุ์จากอัลฟา เป็นเดลตา และหากดื้อต่อยาและวัคซีนมากขึ้นก็จะเป็นการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญ แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีนัยสำคัญ และทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่จัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ไทยพบติดโควิดสายพันธุ์ "เดลตา พลัส" 1 คน