การปฏิเสธไม่ใช้แผนสำรองของผู้นำสหราชอาณาจักร ยิ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง
เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) สหราชอาณาจักร มีผู้ติดเชื้อกว่า 52,000 คน สูงที่สุดในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ขณะที่ผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 8,600,000 คน ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในยุโรป
ปัจจัยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอีกครั้งมาจากการผ่อนปรนมาตรการและการเปิดเมือง ส่วนภูมิคุ้มกันจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลดลงหลังจากสหราชอาณาจักรเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-15 ปี ค่อนข้างล่าช้ากว่าประเทศอื่นในยุโรป จนถึงขณะนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังไม่มีท่าทีจะปรับแผนและหันมายกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19
การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน สร้างความไม่พอใจให้สมาคมการแพทย์อย่างมาก สมาคมการแพทย์ออกแถลงการณ์ ระบุว่า รัฐบาลจงใจเพิกเฉยต่อการรับมือกับโควิด-19 ระลอกใหม่
แผนรับมือโควิด-19 ในช่วงฤดูหนาว แบบ A คือ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชากรกว่า 30 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เด็กอายุ 12-15 ปี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี รณรงค์ให้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือสม่ำเสมอและสวมหน้ากากอนามัยในจุดที่มีคนหนาแน่น
ผู้เข้าเกณฑ์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา ผู้มีอายุ 16-49 ปีที่มีโรคประจำตัว ผู้อาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มเปราะบาง แต่อังกฤษมีผู้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 3,700,000 คน จากผู้มีสิทธิ์รับทั้งหมด 8,500,000 คน ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12-15 ปี ล่าช้า เพราะการฉีดวัคซีนจะต้องผ่านโรงเรียนเท่านั้น
ขณะที่แผน B จะยกระดับมาตรการควบคุมโรคให้เข้มงวดขึ้น ไม่ต่างจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ เริ่มตั้งแต่บังคับสวมหน้ากากอนามัย ทำงานจากบ้านไปจนถึงบังคับใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน การบังคับใช้แผนสำรองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออัตราการครองเตียงสูงจนเป็นภาระของระบบสาธารณสุข ประชาชนแสดงความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับการกลับมาใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 อีกครั้ง