วันนี้ (20 ต.ค.2564) สำนักข่าวรอยเตอร์สอ้างถึงร่างเอกสารของโครงการส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือในการต่อสู้กับโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ว่าแผนการจัดซื้อยาที่ใช้รับประทานตัวใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง ในราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท จำนวน 28 ล้านชุด สำหรับผู้ป่วยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
แม้ว่าในรายงานจะไม่ได้ระบุชื่อของตัวยา แต่ทราบกันดีว่าหมายถึงยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ซึ่งถือเป็นยาต้านโควิด-19 เพียงตัวเดียว ณ เวลานี้ ที่ผลการทดสอบพบว่ามีประสิทธิภาพในรักษา
ราคายาโมลนูพิราเวียร์ที่องค์การอนามัยโลกสั่งซื้อจากบริษัทเมอร์ค ชุดละประมาณ 300 บาท ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับราคาที่สหรัฐฯ สั่งซื้อในราคาชุดละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 21,000 บาท โดยสหรัฐฯ สั่งซื้อไปแล้ว 1,700,000 ชุด
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าหากอนุญาตให้บริษัทท้องถิ่นผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ จะสามารถกดราคาลงมาได้ อยู่ที่ชุดละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600 บาท และหากเลือกใช้วิธีการผลิตอย่างเหมาะสม ราคาจะลดลงมาอยู่ที่ชุดละ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯ 70 เซนต์ หรือประมาณ 230 บาท ซึ่งขณะนี้บริษัทเมอร์คได้ให้สิทธิ์ในการผลิตยากับบริษัทของอินเดีย 8 แห่ง
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังขอให้กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือจี 20 และประเทศอื่นๆ บริจาคเงินให้องค์การอนามัยโลกอีก 22,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 684,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อวัคซีนและยาต้านโควิด-19 รวมถึงอุปกรณ์ทดสอบการติดเชื้อเพื่อนำไปมอบให้กับประเทศยากจน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะใช้ไปจนถึงเดือนกันยายนปีหน้า
ที่มา : Reuters
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ห่วงประเทศร่ำรวยแย่งซื้อ "โมลนูพิราเวียร์" ซ้ำรอยปัญหาเหลื่อมล้ำ
"โมลนูพิราเวียร์" ตัวเปลี่ยนเกมรับมือโควิด-19
"เมอร์ค" ยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉิน "ยาโมลนูพิราเวียร์" ในสหรัฐฯ
สธ.เปิดไทม์ไลน์ "ยาโมลนูพิราเวียร์" ถึงไทยธ.ค.-ม.ค.65