มีผู้ส่งข้อความมาที่เพจเฟซบุ๊ก The EXIT ให้ช่วยเหลือชายอายุ 29 ปี ที่ทำงานอยู่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา กลับประเทศไทยหลังจากลักลอบไปทำงานที่นั่นได้เพียง 2 อาทิตย์ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชายคนนี้ต้องการกลับประเทศไทย เพราะรู้สึกว่าชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย
จากการพูดคุยกับชายคนดังกล่าวในเวลาต่อมา ทีมข่าวพบว่า เขาทำหน้าที่เป็นแอดมินให้กับแอปพลิเคชันเงินกู้ของนายจ้างชาวจีนรายหนึ่ง แต่ลักษณะงานที่ทำอยู่กลับเน้นให้หลอกเงินคนไทยเป็นหลัก เมื่อมีคนสนใจกู้เงิน ต้องหลอกให้โอนเงินร้อยละ 11 ของจำนวนเงินกู้มาให้ได้ และเมื่อได้เงินแล้วก็จะหลอกเงินจากผู้กู้ตามขั้นตอน จนคนกู้ไม่มีเงินจ่ายให้
แต่ละวัน หากทำยอดไม่ถึง 35,000 บาท ตามกำหนด จะไม่ได้กินข้าว หลายครั้งที่เขาเห็นเพื่อนร่วมงานถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงต่อหน้าขณะทำงาน จึงเกิดความหวาดกลัว
เขาตบเพื่อนครับ เป็นเด็กใหม่ 2 วันเขาทำยอดไม่ได้ เขาถูกตบหัวหน้าคะมำลงไปที่แป้นพิมพ์ ตัวอักษรที่แป้นพิมพ์กระเด็นออกมา ผมบอกว่า ผมไม่สบายเขาก็ไม่ให้ข้าวให้อะไรกิน ตอนเย็นเขาเอาข้าวที่มีกลิ่นเหมือนข้าวหมา มาให้ผมกิน
เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เพื่อนร่วมงานหนีออกไปหลายคน บางคนทำเงินไม่ได้ตามยอดถูกขายต่อให้กับบริษัทอื่น เพื่อนร่วมเดินทางกว่า 30 คน ทยอยหายไปเหลืออยู่ไม่กี่คน ล่ามนายจ้างชาวจีนข่มขู่ว่าหากหนีออกไปถูกจับได้จะถูกทำร้ายถึงชีวิต หากต้องการกลับประเทศไทยต้องจ่ายเงิน 30,000 บาทเป็นค่าไถ่ตัว
ชายคนนี้ทำทุกวิถีทางเพื่อกลับประเทศไทย เขาลงทะเบียนขอกลับประเทศไทยตามช่องทางของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ โดยจะเดินทางกลับทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
หลังจาก ลงทะเบียนแล้ว เขาจึงวางแผนหลบหนีออกจากที่ทำงานเพื่อมาข้ามแดนกลับประเทศไทย
ผมไม่ไหวแล้ว ผมต้องรอเวลาไม่ตีสี่ก็หัวรุ่ง เพราะช่วงนี้มีคนมาเฝ้า แต่ถ้าหนีออกมาได้แล้วก็จะไปที่ด่านไทยทันที
7 โมงเช้า วันรุ่งขึ้น ชายคนนี้หลบหนีออกจากสถานที่ทำงานในกัมพูชามุ่งหน้าสู่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ห่างจากสถานที่ทำงานในปอยเปตราว 4 กิโลเมตร ระหว่างมุ่งหน้ามาที่ด่าน เขาพูดคุยกับทีมข่าว The EXIT เป็นระยะ
สุดๆเลยครับ ตื่นเต้นคิดในใจว่า ไม่รู้จะรอดหรือเปล่า
สำหรับคนที่กำลังหลบหนี และ ทีมข่าวที่ประสานงานรอรับอยู่ฝั่งไทย ระยะเวลา 11 นาที เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน แต่ในที่สุดปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยกลับบ้าน ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยมีสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ แนะนำขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ
อย่าไปดีกว่า ถ้าเจอที่ดีมันก็โอเค ถ้าเจอที่แย่เหมือนผม อาจไม่มีลมหายใจกลับมา
หลังข้ามแดนกลับมาประเทศไทย เขาต้องถูกปรับตามกฎหมายกัมพูชาและไทย ก่อนลงทะเบียนเข้าสู่การตรวจหาเชื้อโควิด-19 พร้อมกักตัว 14 วันตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในวันเดียวกันนั้น มีคนไทยจากกัมพูชาขอเดินทางกลับเข้าประเทศไทยอีก 18 คน ทั้งหมดลงทะเบียนผ่านระบบรับแจ้งขอเดินทางกลับของสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ
จากการพูดคุยกับชายคนนี้หลังจากข้ามกลับมาประเทศไทยแล้ว พบว่า สาเหตุที่เขาตัดสินใจไปทำงานที่กัมพูชาแบบผิดกฎหมาย เพราะไม่มีงานทำ การศึกษาไม่สูง มีภาระเลี้ยงดูภรรยาและลูก
เขาหางานผ่านกลุ่มหางานกัมพูชา ที่มีอยู่ในหลายกลุ่มในออนไลน์ กระทั่งมีนายหน้าคนหนึ่งติดต่อมาทั้งทางไลน์ มีการพูดคุยทางโทรศัพท์และข้อความ
กรณีชายคนนี้สัมภาษณ์งานตกลงเงินเดือน 3 หมื่นบาท งานคือแอดมินตอบแชทลูกค้า แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับไม่ใช่งานตามที่ตกลง และ เงินเดือนที่ได้คือ 16,000 บาท 2 สัปดาห์เขาได้เงินค่าคอมมิชชั่นจากการหลอกคนไทยกว่า 2 พันบาท
ไม่กลับไปแล้วครับ เข็ด ทำนาบนหลังคนมันไม่เจริญหรอกครับ
ย้อนกลับไปวันที่ 14 ส.ค. 2564 มีคนขับรถยนต์ไปรับเขา ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อถึง จ. สระแก้ว จึงเปิดโรงแรมให้พักคอยเวลา เขาจำได้ว่า เมื่อถึงเวลานัดหมาย มีรถกระบะหลายคันมาจอดรับ ในวันนั้นมีผู้เดินทางกว่า 30 คน ใช้เวลาเดินข้ามแดนกว่า 10 ชั่วโมง
เฟซบุ๊กสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ โพสต์ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 ข้อความที่รวมอยู่ในนั้น คือ ลิงค์ประกาศเตือนผู้ที่เดินทางเข้ากัมพูชาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งสถานเอกอัคราชทูตได้โพสต์ไว้เมื่อ 9 เมษายน ปีนี้
แม้ข้อความเตือนจะแสดงให้เห็นถึงความผิด และความเสี่ยงถูกทำร้ายร่างกาย ถูกขายต่อ โดยไม่สามารถฟ้องร้องได้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีคนไทยลักลอบเดินทางข้ามแดน ไปทำงานที่ประเทศกัมพูชาแบบผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง