กรณีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลางบางส่วนเช่น สุโขทัย ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ทำให้ชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงปทุมธานี และกทม.กังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมฬหญ่ซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่
วันนี้ (28 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นจุดรองรับน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือลงในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลงมาพื้นที่ท้ายน้ำลุ่มเจ้าพระยา มีการเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,627 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อน จะมีปริมาณน้ำสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 30 ซม.โดยมีการประเมินว่ายอดน้ำจะสูงขึ้นอีก 3 วันระดับน้ำแตะจุดวิกฤต 2,840 ลบ.ม.วินาที
ความกังวลดังกล่าว มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะองค์เผยแพร่ข้อมูลความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลล่วงหน้า เพื่อนำไปเป็นแนวทางการเตรียมการและบริหารความเสี่ยงล่วงหน้าในฐานะ "สภาเตือนภัย" ได้นำเหตุหยิบเหตุผลจากนักวิชาการ 3 คนเพื่อตอบข้อกังวลความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม กรมชลฯ ยันระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ไม่กระทบกรุงเทพฯ

4 ความเห็นกูรูน้ำยืนยันน้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54
นายปราโมทย์ ไม้กลัด รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีดอธิบดีกรมชลประทาน เห็นว่า ทั้งข้อมูลปริมาณฝน ปริมาณน้ำกักเก็บ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ในขณะนี้มีน้อยหากเปรียบเทียบกับในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 54
จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดน้ำท่วมในกทม.ครั้งใหญ่เช่นปี 54
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้แม้จะมีกรณีน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายจังหวัด แต่โอกาสน้ำท่วม กทม.เหมือนปี 54 มีโอกาสเป็นไปได้น้อย
โอกาสน้ำท่วมกทม.เหมือนปี 2554 เป็นไปได้น้อย เว้นแต่จะมีน้ำระบายไม่ทันทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

ขณะที่ ดร.สุทัศ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เห็นว่า ณ เวลานี้เมื่อปี 2554 เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ มีน้ำเต็มความจุ 22,000 ล้าน.ลบ.ม. แต่ขณะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณครึ่งเดียว หากมีพายุเข้ามาทั้ง 2 เขื่อนยังดักน้ำได้อีกมาก
แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการสร้างคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น คิดว่าปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมกทม.เหมือนปี 54 แน่นอน
อ่านข่าวเพิ่ม คลายข้อสงสัย ตอบชัด! ปีนี้น้ำไม่ท่วมหนักเหมือนปี 2554
ประเมิน 1-3 สัปดาห์อัตราน้ำที่นครสวรรค์ลด
ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่ จากข้อมูลปี 2554 กราฟน้ำท่วมมีฐานกว้างมาก จึงทำให้มีน้ำเติมเข้าทุ่งเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากและนาน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่
ในขณะที่ปีนี้อีกไม่นาน คาดว่า 1-3 สัปดาห์ อัตราการไหลที่นครสวรรค์จะคงที่ และเริ่มลดลงเนื่องจากฝนจะลดลงในช่วงอาทิตย์ข้างหน้าทำให้มีน้ำเติมลงมาน้อยกว่าเดิมนั่นเอง

ภาพ: มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
ภาพ: มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
สำหรับน้ำที่ไหลลงมาตอนนี้เกือบ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินที ในวันนี้ ส่วนใหญ่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำ และทุกคนรู้ว่าคอขวดการไหลอยู่ที่อยุธยา ซึ่งรับน้ำได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที หลายคนจะบอกว่าน้ำลงมา 2,500 อยุธยารับได้ 1,200 อย่างนี้ท่วมแน่ๆ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนชัยนาท จะมีคลองลพบุรี และคลองบางแก้วรับน้ำออกทางฝั่งซ้าย และมีคลองโผงเผงและคลองบางบาลรับน้ำออกทางฝั่งขวา รวมความสามารถ 818 ลบ.ม.ต่อวินาที
แต่ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำแถวๆบางบาล ทำให้มีน้ำท่วมขังเปรียบเสมือนแก้มลิงธรรมชาติ ก่อนที่จะไหลลงมาที่อยุธยา และน้ำจากคลองต่างๆเหล่านี้ รวมกับแม่น้ำป่าสักจะไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านใต้ของอยุธยา

ภาพ: มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
ภาพ: มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวอีกว่า แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บางไทรลงมา จะสามารถรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้น น้ำที่ลงมาในปีนี้จนถึงวันนี้ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และถ้ามีฝนตกลงมาอีกในเดือนหน้า ก็จะคาดหมายได้ว่าน่าจะลงมาในบริเวณทุ่งเจ้าพระยาตอนกลาง และตอนล่าง
ซึ่งน้ำที่เกิดจากน้ำฝนบริเวณนี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบางพื้นที่ในส่วนที่มีฝนตกหนักมาก แต่จากสภาพพื้นที่ที่ราบมาก น้ำจะไม่ไหลบ่าอย่างรุนแรง และจะค่อยๆ ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับพื้นที่ตอนล่างเท่าใด
สรุปพื้นที่กรุงเทพและใกล้เคียง ยังไม่น่าต้องห่วงว่าน้ำจะท่วมจากฝนที่ตกในรอบนี้ แต่ถ้าจะลุ้นว่าท่วมไหม ก็อาจจะมีจากฝนที่ตกหนักเฉพาะจุดในพื้นที่ตัวเองมากกว่า
ดังนั้น หากเอาความคิดเห็นทั้งหมดและข้อจากกูรูอื่นที่ไม่ได้น้ำมาเผยแพร่ หากนำมาเป็นความเป็นมติ "สภาเตือนภัย " คงลงความเห็นว่า ปีนี้จะไม่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนปี 54 อย่างแน่นอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
น้ำท่วม "ลพบุรี" เดือดร้อนกว่า 55,790 ครัวเรือน พบเสียชีวิต 5 คน
เช็ก ! 4 อ่างเก็บน้ำเสี่ยงวิกฤตปริมาณน้ำมากเกิน 100%