โจทย์สำคัญคืออัตราการฉีดวัคซีนในแถบบ้านเรายังไม่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชาติตะวันตก หลายประเทศเริ่มปรับตัวในการอยู่ร่วมกับ COVID-19 มากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะส่งสัญญาณเตือนว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจเร็วเกินไป โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและไทย
นักวิจัยด้านสาธารณสุขประจำสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) ระบุว่า หากแต่ละประเทศผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนยังไม่สูงมากพอ อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในภูมิภาค ขณะเดียวกันรัฐบาลของแต่ละประเทศมีทางเลือกไม่มากนัก หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน
เวียดนามเตรียมเปิดเกาะฝูก๊วกรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้วัคซีนครบแล้วในเดือน พ.ย.นี้ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมีผลตรวจหาเชื้อแบบ PCR เป็นลบ ภายใน 72 ชม. ก่อนการเดินทาง เนื่องจากการระบาดของ COVID -19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามอย่างรุนแรงส่วนอัตราการฉีดวัคซีนเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำ หลังจากผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วมีเพียงร้อยละ 7
ขณะที่อินโดนีเซียมีแผนจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าไปเที่ยวเกาะบาหลีภายในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 เริ่มดีขึ้น สะท้อนให้เห็นจากอัตราการแพร่เชื้อต่ำกว่า 1 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมาย ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส จึงจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้
ด้านมาเลเซียเปิดเกาะลังกาวีสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.เป็นต้นมา มาเลเซียมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงอันดับต้น ๆ หลังจากร้อยละ 58 ของประชากรได้วัคซีนครบแล้วโดยการเปิดเกาะลังกาวีจะช่วยสร้างรายได้ 165 ล้านริงกิต หรือ ประมาณ 1,300 ล้านบาท นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารและโรงแรมบนเกาะนี้ กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ผู้ประสานงานประจำสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า การเปิดประเทศเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำของชาติในเอเชีย
แม้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศรู้ดีว่า วัคซีนเป็นคำตอบแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยผู้นำฟิลิปปินส์เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาตำหนิประเทศร่ำรวยอย่างตรงไปตรงมาบนเวทีสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก
หากจำเป็นจะต้องเปิดประเทศคงจะต้องยกระดับการตรวจเชื้อและการติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงให้เข้มข้น คำถาม คือ ระบบเหล่านี้ของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมมากแค่ไหนในเวลานี้