ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หมอเผยผลวิจัยฉีดเข็ม 3 เข้าชั้นผิวหนัง ภูมิสูงใกล้เคียงฉีดกล้ามเนื้อ

สังคม
22 ก.ย. 64
14:22
22,575
Logo Thai PBS
หมอเผยผลวิจัยฉีดเข็ม 3 เข้าชั้นผิวหนัง ภูมิสูงใกล้เคียงฉีดกล้ามเนื้อ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข้าชั้นผิวหนัง พบผลข้างเคียงปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่เกิดอาการทั่วไปของร่างกายน้อยกว่า ส่วนการเกิดภูมิคุ้มกันพบว่าเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน

วันนี้ (22 ก.ย.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการวิจัยภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเป็นการวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนมี 3 แบบ คือ 1.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า 2.ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนรวมหัด คามทูมและหัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบ และ 3.ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เช่น วัคซีน BCG ป้องกันความรุนแรงแรงวัณโรค วัคซีนพิษสุนัขบ้า

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า งานวิจัยดังกล่าว คือการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ใต้ผิวหนัง

"สิ่งที่ตั้งคำถามคือ มีหลายประเทศเริ่มคิดเรื่องนี้ เพราะการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังจะใช้จำนวนวัคซีนน้อยกว่า และอาจน้อยกว่าถึง 1 ใน 5 ถ้าได้ผลเท่ากัน นั่นหมายความว่าวัคซีนที่เคยฉีดได้ 1 คน จะฉีดได้ 5 คน"

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง เฉพาะเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส โดยฉีดให้กับอาสาสมัครที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้ว 4-8 สัปดาห์ และฉีดให้กับอาสาสมัครที่ฉีดซิโนแวคมานาน 8-12 สัปดาห์ด้วย เพื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเดิม ซึ่งหลังจากนั้น 14 วันได้เจาะเลือดทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อตรวจผลข้างเคียงและการเกิดภูมิคุ้มกัน

สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น หากฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง พบว่าจะเกิดอาการเฉพาะที่หรือจุดที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น อาการปวด บวม แดง คลำแล้วเป็นไต ส่วนอาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย พบว่าน้อยลง เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

สรุปคืออาการข้างเคียงเฉพาะที่ การฉีดเข้าชั้นผิวหนังมีมากกว่า แต่อาการทั่วไปภาพรวมมีน้อยกว่า

 

ส่วนการตอบสนองภูมิคุ้มกันมี 2 ส่วน คือแอนติบอดี และปฏิกิริยาของเซลล์ที่จะช่วยกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย

สำหรับส่วนของภูมิทั่วไป พบว่าหากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในภาพรวมจะมีภูมิขึ้นมาประมาณหนึ่ง แต่หากฉีดกระตุ้นไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นผิวหนัง และไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย พบว่าเกิดภูมิเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงใกล้เคียงกัน

ขณะที่การยับยั้งโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา พบว่า หากฉีด 2 แบบเปรียบเทียบกัน ได้ผลไม่แตกแต่งกันมาก ดังนั้นยืนยันว่าการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง สามารถจัดการสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน

 

ขณะที่ ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงปฏิกิริยาของเซลล์ที่ตอบสนองต่อไวรัส ว่า จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม หากฉีดแอสตราเซเนกาเป็นบูสเตอร์โดส ไม่ว่าจะเป็นการฉีดโดสเต็มเข้าไปในกล้ามเนื้อ หรือฉีดโดสน้อยลง 1 ใน 5 ในชั้นผิวหนัง พบว่า มีภูมิไม่แตกต่างกันและมีภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่าการได้รับซิโนแวค 2 เข็ม ดังนั้นจึงสามารถฆ่าไวรัสที่เข้ามาในเซลล์ได้

อาสาสมัครที่พบอาการทางผิวหนัง ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด สามารถหายได้เองภายใน 7 วัน และไม่มีอาสาสมัครคนใดต้องไปพบแพทย์

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำว่า วันนี้ยังฉีดแบบเดิมคือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยกเว้นในพื้นที่ใดที่ต้องการประหยัดวัคซีนและมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีทักษะในการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง (ตามมติ EOC ของ สธ.) แต่ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็ม 3 หากใช้การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้เพียง 1 ใน 5 ก็จะทำให้ประหยัดวัคซีนและทำให้มีผู้ได้รับเข็ม 3 ครบมากขึ้นและเร็วขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

24 ก.ย. ดีเดย์ฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ให้ประชาชน

รู้จัก "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" หลังเด็กฉีดวัคซีน COVID-19

เปิดคำแนะนำ "ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์" ฉีดไฟเซอร์เด็ก 12 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง