วันนี้ (21 ก.ย.2564) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มาเข้ารับการ ซึ่งวันนี้มีทั้งหมด 1,500 คน เป็นเด็กใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง พื้นที่ กทม. และผ่านการคัดกรองแล้วว่าเข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีนของ รพ.วชิรพยาบาลได้ แม้จะไม่ได้รับการรักษาที่ รพ.ดังกล่าว
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าว เป็นวัคซีนล็อตบริจาค ซึ่ง รพ.ได้รับจัดสรรจากกรมควบคุมโรค ประมาณ 2,000 โดส โดยการฉีดวัคซีนในวันนี้ แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 700 คน และเข็มที่ 2 ประมาณ 700-800 คน ซึ่งได้รับวัคซีนไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา
ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทรธิราช กล่าวว่า การจัดบริการฉีดวัคซีนให้เด็ก เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง หากเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักเกิน
ข้อมูลที่ผ่านมาวัคซีนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ต้องระมัดระวังและเก็บข้อมูล ในระยะสั้นผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง การฉีดวัคซีนน่าจะมีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากกว่ารอติดเชื้อก่อน
จากการติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กกลุ่มก่อนหน้านี้ พบว่า ยังไม่พบอาการรุนแรงใด ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บปวดบวมแดงร้อน บริเวณที่ฉีด แต่จะเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องหลังเข้ารับวัคซีนแล้วไปจนถึงประมาณ 1 เดือน เพื่อเก็บรวบรวมเข้าระบบของ รพ. และรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ผู้ปกครองหลายคน ตัดสินใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของโรค เพราะว่ามีโรคประจำตัว แม้จะกังวลกับวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่มั่นใจว่าปลอดภัยกับเด็ก เพราะมีผลการศึกษารองรับ แม้จะพบข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนในกลุ่มเด็กผู้ชาย โดยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
ส่วนผู้ปกครองที่เคยให้บุตรหลานฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 1 ไปแล้ว กล่าวว่า ไม่มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด และมีเพียงอาการไข้เล็กน้อยเท่านั้น
ด้าน พญ.พิราภรณ์ กาญจนพันธุ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็ก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า ต้องการให้ผู้ปกครองมองถึงผลประโยชน์ในการฉีดวัคซีนเด็กเป็นหลัก ซึ่งสามารถป้องกันโรคและลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ โดยมีผลข้างเคียงน้อยและไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงแนวทางการเปิดภาคเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า ขอประเมินจากการฉีดวัคซีนในเด็กก่อน โดยตั้งเป้าให้เด็กในพื้นที่ กทม.ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 700,000 คนขึ้นไป จากทั้งหมดประมาณ 1,000,000 คน จึงเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง เกี่ยวกับการกำหนดเปิดภาคเรียนเมื่อใด เพื่อเสนอ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ